ตำรวจสอบสวนกลาง บุกทลายโกดัง จำหน่ายของเล่นเด็กไม่มีเครื่องหมาย มอก. มากกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท

1440

ตำรวจสอบสวนกลาง บุกทลายโกดัง จำหน่ายของเล่นเด็กไม่มีเครื่องหมาย มอก. มากกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกันตรวจค้น คลังสินค้า ย่านลาดกระบัง กทม. ตรวจยึดของกลาง ของเล่นตุ๊กตา,ของเล่นประเภทไม้ พลาสติก สิ่งทอ กระดาษ และสีเทียน มากกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท

MeRIEI.jpeg

สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ สืบสวนหาข่าวข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นำเข้า เก็บ/จำหน่าย สินค้าประเภทต่าง ๆ ที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 (ไม่มีเครื่องหมาย มอก.) จนกระทั่งทำการตรวจค้นคลังสินค้า ย่านลาดกระบัง กทม. ผลการตรวจค้นพบ ของเล่นตุ๊กตา,ของเล่นประเภทไม้ พลาสติก สิ่งทอ กระดาษ และสีเทียน ซึ่งไม่มีมาตรฐานรับรอง (ไม่มีเครื่องหมาย มอก.) อยู่ที่สินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ มากกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 4,000,000 บาท ซึ่งขณะนั้นเจ้าของสินค้าข้างต้นยังไม่สามารถนำเอกสารมาชี้แจงได้ จึงนัดหมายให้เจ้าของสินค้านำเอกสารที่ถูกต้องมาชี้แจง

MeRFkZ.jpeg

เมื่อถึงวันนัดหมาย เจ้าของสินค้ากลับไม่สามารถนำเอกสารมาชี้แจงได้ พนักงานสอบสวน จึงแจ้งข้อกล่าวหากับเจ้าของและบริษัทดังกล่าว ฐาน “มีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีกฎกระทรวงกำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยรู้อยู่ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหรือนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย” ตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 36 , มาตรา 55

MeRMXP.jpeg

สำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นนั้น กฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของเล่นต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2565 (เลขที่ มอก.685 เล่ม1-2562 ) และพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมสีเทียนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2550(เลขที่ มอก.1149-2548) ซึ่งปัจจุบันของเล่นสำหรับเด็ก(ที่มีอายุต่ำกว่า14ปี) ที่ไม่มีมอก.อาจมีสารเคมีปนเปื้อน โดยเฉพาะของเล่นที่มีสีสันสะดุดตา ซึ่งอาจใช้สีที่ไม่ได้มาตรฐาน หากเด็กนำของเล่นเข้าปาก จะได้รับอันตรายจากสารตะกั่ว

โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจาก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) แล้วว่ามีคุณภาพและได้มาตรฐานตามที่กำหนด มีความปลอดภัยในการใช้งาน โดยผู้ทำและผู้นำเข้าจะต้องได้รับการอนุญาตจาก สมอ. ก่อนจึงจะสามารถทำหรือจัดจำหน่ายได้ โดยจะต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรองรวมถึงมีการแสดงชื่อ ผู้ทำ ผู้นำเข้า อายุผู้เล่น คำเตือนที่ชัดเจน ซึ่งหากไม่ได้มีการผลิตที่ได้มาตรฐานหรือนำเข้ามาอย่างถูกต้อง ผู้บริโภคที่นำผลิตภัณฑ์ฯ ไปให้บุตรหลานเล่นอาจเกิดอันตรายได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ทำการตรวจยึดและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป