สสจ.เชียงใหม่ เตรียมพร้อมเฝ้าระวัง “ฝีดาษวานร” พร้อมแนะการป้องกัน หลังพบผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย

374

22 ส.ค. 66 – ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคฝีดาษวานร ที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และล่าสุดพบผู้ป่วยฝีดาษวานร เสียชีวิตรายแรกของไทย เมื่อ 11 ส.ค. 2566 ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่นและตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 โดยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี แพทย์สงสัยเป็นโรคฝีดาษวานร จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษวานร ขณะเดียวกันยังตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และเชื้อซิฟิลิส

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, แท่นบรรยาย และ ข้อความพูดว่า "Esdon PHILIPS sioy ดร.ทรงยศ คำชัย"สำหรับความคืบหน้าการเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขรายงาน พบมีการติดเชื้อใน 19 จังหวัด สถานการณ์น่าห่วงโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่เจอผู้ป่วยสะสม ถึงหลักร้อยคน โดยมีรายงานจากกรมควบคุมโรค ระบุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -15 ส.ค. 2566 มีผู้ป่วยฝีดาษวานร 217 ราย เป็นชาวต่างชาติ 30 ราย คนไทย 187 ราย อายุเฉลี่ยตั้งแต่ 20 – 64 ปี ทั้งนี้ มีรายงานการติดเชื้อใน 19 จังหวัด แบ่งตามระดับสี ได้แก่
“ระดับสีแดง” 3 จังหวัด คือ กทม. 136 ราย นนทบุรี 14 ราย ชลบุรี 9 ราย
“ระดับสีส้ม” 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ 9 ราย ภูเก็ต 8 ราย ปทุมธานี 7 ราย
“ระดับสีเหลือง” 13 จังหวัด คือ ระยอง 3 ราย สมุทรสาคร ลพบุรี มหาสารคาม ขอนแก่น พะเยา จังหวัดละ 2 ราย นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี นครนายก เชียงราย และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย

สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า พบผู้ป่วยในจังหวัด 2 ราย เป็นผู้ป่วยภูมิลำเนาจังหวัดเชียงใหม่ 1 ราย มีความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์กับชายแปลกหน้าที่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังมีการระบาดของโรคฝีดาษวานรด้วย ให้การรักษาและกักตัว จนปัจจุบันเกือบครบระยะกักตัวและระยะแพร่กระจายของโรคแล้ว ส่วนอีกรายเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัด มีความเสี่ยงกับชายแปลกหน้าที่ต่างจังหวัด แล้วเดินทางเข้ามาเที่ยวและเกิดอาการที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับการรักษา และส่งต่อไปรักษาต่อยังภูมิลำเนาของผู้ป่วยเรียบร้อยแล้ว โดยทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังทีมควบคุมโรค สสจ. เชียงใหม่ ดำเนินการสอบสวนโรค ค้นหาไทม์ไลน์ของผู้ป่วย ค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจหาเชื้อ และเฝ้าระวังอาการหลังสัมผัสเชื้อทุกวัน 21 วัน ให้คำแนะนำและเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงต่ำ เช่น สถานที่ที่ผู้ป่วยเดินทางไปเที่ยวหรือใช้บริการ และติดตามการกักตัวอย่างเคร่งครัดของผู้ป่วยจนกระทั่งตุ่มหนองหายเป็นปกติ และสื่อสารความเสี่ยงให้กับประชาชนจังหวัดเชียงใหม่

Monkeypox

ดร.ทรงยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือ ตุ่มน้ำหรือ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย เกือบครึ่งของผู้ป่วยฝีดาษวานรรายใหม่ เป็นผู้ติดเชื้อ HIV โดยปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (หรือ TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลกมาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน

หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตนสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” หรือ กลุ่มงานควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ โทร 053-211048-50 ต่อ 110

ที่มา : ประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่