เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่ ข่วงพระเจ้าล้านนา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ (ปากทางเข้าห้วยตึงเฒ่า) พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประกอบพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเถราภิเษกเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ยูเนสโก) โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ประกอบพิธีจุดเทียนชัยพิธีพุทธาภิเษกองค์ พระพุทธรูปปางรำพึง ขนาดความสูง 170 เซนติเมตร จำนวน 4 องค์ /เถราภิเษกองค์รูปเหมือนครูบาเจ้าศรีวิชัย ขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว จำนวน 6 องค์ และขนาด 9 นิ้ว จำนวน 50 องค์ พร้อมชุดประกาศเกียรติคุณเพื่อเตรียมเสนอให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาศาสนา และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ ขององค์การยูเนสโก ในวาระครบ 150 ปีชาตกาล ครูบาเจ้าศรีวิชัย (2571) โดยมี พลเอก ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้ที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยเข้าร่วม
จากนั้นพลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประกอบพิธีมอบองค์รูปหล่อครูบาเจ้าศรีวิชัย พร้อมชุดประกอบการเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณพร้อมโล่ แก่ กรรมการฝ่ายฆราวาส จำนวน 18 ราย เพื่อประสานงานในการเผยแพร่ประกาศเกียรติคุณครูบาเจ้าศรีวิชัยฯทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับพิธีพุทธาภิเษกและพิธีเถราภิเษกเพื่อหนุนเสริมการเผยแพร่และประกาศเกียรติคุณองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกขององค์การยูเนสโกในครั้งนี้เกิดขึ้นจากมูลนิธิ
อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา ได้ดำเนินกิจกรรมหนุนเสริม ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเตรียมเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ทางด้าน
การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพต่อองค์การยูเนสโก ในสาขาวัฒนธรรมที่สร้างความสงบสุขอันนำไปสู่สันติภาพร่วมกับ โครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนภาคเหนือ (ตอนบน) โดยมุ่งหวังที่จักสืบสานพระพุทธศาสนา รักษาแผ่นดินที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นหลักชัยของแผ่นดิน
ทั้งนี้แบบเสนอคำขอเพื่อเสนอชื่อครูบาเจ้าศรีวิชัย ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (ANNEX II ) จะต้องมีการเผยแพร่จริยวัตร ปฏิปทา ดังนั้นมูลนิธิอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ มูลนิธิข่วงพระเจ้าล้านนา ดำเนินการหล่อองค์ครูบาเจ้าศรีวิชัยขนาดหน้าตัก 30 นิ้ว 9 นิ้ว 5 นิ้วและเหรียญบูชา พร้อมประกอบพิธีเถราภิเษกและปลุกเสกครั้งแรก ในวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมถึง ให้มีการประสานงานจัดคัดลอก ขั้นตอนบูชาพระรัตนตรัยตามวิถีพุทธ และพระคาถาบารมี 30 ทัศ พร้อมคำบรรยายใต้ภาพโดยทำการแปลเป็นภาษาล้านนา ภาษาเมียนมาร์ (ปะโอ) ภาษาไทใหญ่ (ไต) ภาษากะเหรี่ยง ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และให้จัดทำเป็นบันทึกภาพและเสียงการสวดเป็นตัวอย่างการบูชาคุณพระรัตนตรัย และคาถาบารมี 30 ทัศ ให้เป็นภาษาต่างๆ โดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมเสนาบดี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร รองเจ้าคณะภาค 7 เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลีแปลด้วยภาษาจีน พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระเทพรัตนนายก เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร เจ้าคณะจังหวัดลำพูน เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลี สาธยายพระคาถาด้วยภาษาไทยพร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาล้านนาและสวดหมู่ด้วยภาษาบาลีพร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาอังกฤษ พระครูประภัศร์ธรรมรังษี (ครูบาจันทรังษี) เจ้าอาวาสวัดกู่เต้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลี พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาไทใหญ่ (ไต) พระครูปลัดวินัย อภินนฺโท เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นองค์สวดด้วยภาษาบาลี พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษากะเหรี่ยง
พระสมุห์อานนท์ (ปู่อ้าย) เจ้าอาวาสวัดหนองคำ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นองค์สวดด้วย ภาษาบาลี พร้อมคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาเมียนมาร์ (ปะโอ) โดยมี พระ Narandawamsa หรือ พระหน่อคำ วัดสุวรรณาราม อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นผู้ร่วมดำเนินการถ่ายทำร่วมกับ ดร.กิตติพัฒน์ สุวรรณชิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดบันทึกคำบรรยายใต้ภาพด้วยภาษาต่างๆ (ที่แปล)เพื่อนำไปเผยแพร่และประดิษฐานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงการประสานงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ จัดทำกรอบแนวทางการนำไปประดิษฐานเพื่อการติดตามและเก็บข้อมูลทั้ง 10 จังหวัด (ภาคเหนือ) ระดับประเทศ และการเผยแพร่เกียรติคุณไปยังต่างประเทศอันจะเป็นองค์ประกอบหนึ่งให้คณะทำงานฝ่ายวิชาการได้นำไป ประกอบการยกร่างข้อเสนอด้วยกระบวนการวิจัยที่สอดคล้องกับแบบเสนอ (ANNEX II) ที่องค์การยูเนสโกกำหนดต่อไป