24 ม.ค. 67 – ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีข่าวถึงการทุจริตผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย ที่ได้มีการซื้อผลงานวิจัยที่ไม่ใช่ของตนเอง และนำไปตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติในช่วงปีที่ผ่านมา อว.และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ก็ได้ร่วมกันทำการตรวจสอบและดำเนินการลงโทษผู้ที่พบว่ากระทำผิดจริง โดยได้ตรวจสอบข้อมูลผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย ที่มีข้อมูลการตีพิมพ์ผลงานที่ผิดสังเกต โดยพิจารณาจากข้อมูล 4 ด้าน ได้แก่ 1. มีการตีพิมพ์บทความวิจัยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสูงผิดปกติ 2. ผลงานวิจัยตีพิมพ์อยู่ในหลายสาขาและไม่ตรงกับสาขาที่เชี่ยวชาญ 3. ผู้แต่งร่วมในผลงานตีพิมพ์มาจากหลายสาขาและหลายประเทศ 4. ผู้แต่งร่วมผลงานตีพิมพ์มีความผิดปกติ เช่น ตีพิมพ์ในหลายสาขาวิชา
รองปลัด อว.กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการที่ผ่านมา อว. ได้ส่งรายชื่อนักวิจัย 109 คน ที่มีข้อผิดสังเกตทั้ง 4 ข้อ ใน 33 สถาบัน ให้แก่สถาบันต้นสังกัด เพื่อทำการตรวจสอบ และ อว. ได้มีการติดตาม ผลการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลที่รายงานในเดือนมกราคม 2567 สถาบันอุดมศึกษาตรวจสอบแล้วเสร็จ 74 ราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่ผิดปกติ ไม่ได้ซื้อผลงานวิจัยจำนวน 60 ราย และพบความผิดปกติ 14 รายใน 8 สถาบัน ซึ่งใน 14 รายนี้ ได้ลงโทษไล่ออกแล้ว 2 ราย สอบวินัยร้ายแรงเสร็จแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาโทษ 3 ราย และอยู่ระหว่างการสอบวินัยร้ายแรง 9 ราย ส่วนที่เหลือยังอยู่ในกระบวนตรวจสอบ
“ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบางสถาบันจะล่าช้าอยู่บ้าง เพราะต้องการการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้านและต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกตรวจสอบด้วย อีกทั้งในกระบวนการตรวจสอบอาจต้องใช้ความชำนาญทางวิชาการของกรรมการตรวจสอบด้วย ทาง อว. ก็ได้ให้ความช่วยเหลือในการให้คำปรึกษาในด้านต่างๆ มีการจัดประชุมผู้ตรวจสอบของทุกสถาบัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการตรวจสอบร่วมกัน” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวและว่า
“ในการดำเนินการต่อจากนี้ ทาง อว. จะยังติดตามการตรวจสอบของแต่ละสถาบันอย่างใกล้ชิด ซึ่งต้องขอความร่วมมือกับทุกสถาบันในการตรวจสอบอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ในขณะเดียวกัน อว. ยังดำเนินการตรวจสอบความผิดปกติของนักวิจัยอย่างต่อเนื่อง หากพบความผิดปกติ ก็จะประสานให้ทางสถาบันเร่งดำเนินการต่อไป”