เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 67 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกแถลงการณ์มาตรการดูแลด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 มากกว่า 100 มคก./ลบม. ระบุว่า
จากปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีความเป็นห่วงสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการดูแล ช่วยเหลือประชาชน ในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดย
1.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่ น PM2.5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์รายวัน เพื่อสื่อสารถึงประชาชนในการลดความเสี่ยงรับฝุ่น PM2.5 และออกให้ความช่วยเหลือในพื้นที่
2.ทำการสำรวจกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ประกอบด้วย กลุ่มเด็ก (0-5 ปี) หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) เพื่อติดตามเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำ และเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ
3.เปิดคลินิกมลพิษ/คลินิกมลพิษออนไลน์ และจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางได้เข้าใช้บริการ ลดความเสี่ยงการรับสัมผัสฝุ่น โดยขณะนี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีห้องปลอดฝุ่นรวม 1,466 ห้อง (ภาครัฐ 1,408 ห้อง ภาคเอกชน 58 ห้อง) และยังมีห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 416 แห่ง
4.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก ให้ความรู้และสนับสนุนหน้ากากอนามัยในการป้องกันตนเอง โดยพื้นที่เชียงใหม่แจกหน้ากากไปแล้ว 153,557 ชิ้น และทุกอำเภอยังได้เตรียมการสำรองเวชภัณฑ์ยา/ หน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย เพื่อพร้อมให้การสนับสนุนทันที
5.ถ่ายทอดความรู้การจัดทำ “มุ้งสู้ฝุ่น” ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน และประสานงาน อปท. ในการสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กับผู้ป่วยยากไร้ในทุกพื้นที่ โดยจังหวัดเชียงใหม่จะเร่งผลิตให้ได้ 300 หลัง ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ จะเร่งผลิตเพิ่มเติมอีก 600 หลัง ภายใน 2 สัปดาห์เช่นกัน
6.กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับราชวิทยาลัยและสมาคมวิชาชีพเวชกรรม กำหนดแนวทางการตรวจ คัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกก่อนโรคจะลุกลามต่อไป