เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 รับ 10 ข้อเรียกร้อง ยันรัฐบาลส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ประกาศขึ้นค่าจ้าง 400 เท่ากันทั่วประเทศเป็นของขวัญ 1 ตุลาคมนี้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ วันนี้จึงเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพี่น้องแรงงานทุกท่าน ซึ่งถือว่าเป็นกำลังสำคัญ ในการผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ของประเทศในทุกภาคส่วนให้เติบโต และขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้สภาองค์การลูกจ้างรวม 16 แห่ง สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ เห็นชอบให้นายทวี ดียิ่ง ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567
โดยรัฐบาล ให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และอำนวยความสะดวกให้แก่คณะกรรมการ จัดงานฯ ในการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสสำคัญ และขอบคุณพี่น้องแรงงานทุกท่าน สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะ จากพี่น้องแรงงาน โดยนำข้อเรียกร้องมาดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน มีการหารือ กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเพื่อพัฒนางานในการให้บริการพี่น้องแรงงาน และได้ประสาน แจ้งให้คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติทราบถึงความคืบหน้าแล้ว เพราะตระหนักว่าทุกข้อเสนอแนะจะนำมาซึ่งการปรับปรุงการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับ พี่น้องแรงงาน และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศสืบไป ซึ่งในการจัดงาน วันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติได้จัดทำข้อเรียกร้อง จำนวน 10 ข้อ นำเสนอปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และความต้องการ ของพี่น้องแรงงานเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ต่อไป
“กระทรวงแรงงาน ตระหนักถึงพี่น้องแรงงานที่เป็นกำลังหลักในการสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตลอดมาโดย ดำเนินนโยบาย สร้างเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานทุกคน ผ่านการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงแรงงาน อาทิ เร่งรัดการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งในเรื่องนี้เราได้ติดต่อกับผู้ประกอบการกับเจ้าของกิจการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีมีส่วนสำคัญในทุกระดับเพื่อหารือว่าจะให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างไร พัฒนาทักษะฝีมือด้านใดบ้าง ใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งในระยะ 5 – 6 เดือนนี้ เราต้องศึกษาว่าสาขาใด เราต้องช่วยเขาอย่างไรบ้าง หากธุรกิจใดมีปัญหาก็ขอให้แจ้งมาที่กระทรวงแรงงาน เพื่อจะหารือมาตรการการช่วยเหลือต่อไป นอกจากนี้ แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการให้สัตยาบัน ต่ออนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรองร่วม ฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี และฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยและสุขภาพ อนามัยในทำงาน โดยเฉพาะฉบับที่ 144 นั้น จะเสนอคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบในเดือนพฤษภาคม 2567 และลงนามให้สัตยาบันได้เดือนมิถุนายน 2567 ณ นครเจนนีวา ต่อไป” นายพิพัฒน์ กล่าว