ครม. ขยาย “วีซ่าฟรี” ดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมเป็น 93 ประเทศ เดินทางเข้าไทยอยู่ยาว 60 วัน เริ่ม มิ.ย. 2567

312

29 พ.ค. 67 – ครม. เห็นชอบมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกการตรวจลงตราเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทย ทั้ง 3 ระยะ รายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อปี 2566 ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ปี 2567 นโยบายรัฐบาลจะเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3.3 ล้านล้านบาท เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย กระทรวงการต่างประเทศได้รับนโยบายและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยการกำหนดมาตรการเศรษฐกิจเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบ ในด้านของการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ประเทศไทยไม่ได้มีการปรับปรุงมาตรการและแนวทางการตรวจลงตรามาเป็นระยะเวลา 22 ปี ปัจจุบันสถานการณ์โลกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องทบทวนมาตรการและแนวทางการตรวจลงตราให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัว เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบและการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยมาตรการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. มาตรการระยะสั้น 5 มาตรการ (เริ่มใช้ 1 มิถุนายน 2567 เป็นต้นไป) ได้แก่
  • การให้สิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจและการทำงานระยะสั้น จำนวน 93 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บาห์เรน บรูไน แคนาดา เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เป็นต้น (เดิมพำนักได้ 30 วัน จำนวน 57 ประเทศ/ดินแดนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ)
  • ปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) จำนวน 31 ประเทศ/ดินแดน เช่น อาร์เมเนีย บัลแกเรีย ภูฏาน โบลิเวีย จีน จอร์เจีย อินเดีย คาซัคสถาน เป็นต้น (เดิม จำนวน 19 ประเทศ)
  • เพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล (remote worker หรือ digital nomad) ซึ่งประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (workcation) สามารถพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 10,000 บาท อายุการตรวจลงตรา 5 ปี และมีสิทธิขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทยได้ 1 ครั้ง ไม่เกิน 180 วัน โดยชำระค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราในประเทศได้ โดยการตรวจลงตราเดิมจะสิ้นสุด
  • ปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED ขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ในประเทศไทยได้ แทนที่จะต้องเดินทางออกนอกประเทศทันทีที่สำเร็จการศึกษา
  • เห็นควรให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการตรวจลงตราเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดนโยบายการตรวจลงตราของประเทศไทย

2. มาตรการระยะกลาง 3 มาตรการ (เริ่มใช้ 1 กันยายน – ธันวาคม 2567) ได้แก่

  • จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัส เหลือ 7 รหัส เริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน 67
  • ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวนักระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย เริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน 67 โดยการปรับลดเงินประกันสุขภาพสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิมจำนวน 3,000,000 บาท ให้เหลือ 40,000 บาท สำหรับผู้ป่วยนอก และ 400,000 บาท สำหรับผู้ป่วยใน พร้อมเพิ่มประเทศ/ดินแดนที่คนต่างด้าวสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) เพื่อพำนักระยะยาวในประเทศไทย
  • ขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567 (เดิมให้บริการ 47 แห่งจากทั้งหมด 94 แห่ง) เป็นต้น

3. มาตรการระยะยาว (เริ่มใช้เต็มรูปแบบเดือนมิถุนายน 2568) เป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (ETA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

  • ระยะที่ 1 เปิดระบบให้บริการภายในเดือนธันวาคม 2567 (ระบบ ETA ชั่วคราว) พร้อมระบบ e-Visa ที่จะครอบคลุมทั่วโลก ซึ่งจะยกเว้นให้ผู้ถือหนังสือเดินทาง 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ที่เดินทางข้ามแดนทางบกไม่ต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบ ETA
  • ระยะที่ 2 ภายในเดือนมิถุนายน 2568 เป็นระบบ ETA ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะรวมระบบ e-Visa และระบบ ETA ไว้ในระบบเดียวกัน (Single Window Submission) โดยคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิการยกเว้นการตรวจลงตราจะต้องลงทะเบียนก่อนเข้าประเทศไทยทุกคน ซึ่งรวมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ

  1. จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น ผ่านมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา ประเภทใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งอ่าวไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวของรัฐบาล
  2. กลุ่มต่างชาติที่มีศักยภาพ อาทิ digital nomad และกลุ่มอื่น ๆ สนใจเข้ามาพำนักในประเทศไทยทั้งเพื่อท่องเที่ยว และใช้เป็นสถานที่ทำงานทางไกล ซึ่งจะสร้างโอกาสให้กลุ่มที่มีศักยภาพเหล่านี้อาจพิจารณาประกอบธุรกิจในไทยในระยะยาว ส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์รวมกลุ่มคนที่มีศักยภาพในด้านต่าง ๆ มาใช้ชีวิตและประกอบธุรกิจในไทย ช่วยสร้างและกระจายรายได้ รวมทั้งจะก่อให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากขึ้น
  3. สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติ โดยสถาบันอุดมศึกษาบางแห่งเริ่มเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน จึงส่งผลให้จำนวนนักศึกษาต่างชาติมีความสนใจเข้ามาศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย ในช่วงก่อนเริ่มปีการศึกษา 2567