31 พ.ค. 67 – นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลห่วงใยปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเนือยนิ่งด้วยการเดินให้ได้อย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทรงตัวดีขึ้น และหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้น วันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
นายคารม กล่าวว่า ในทุก ๆ ปี ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 หรือมากกว่า 3 ล้านคน พลัดตกหกล้ม และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุหญิงมีการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มสูงกว่าผู้สูงอายุชาย 1.6 เท่า โดยร้อยละ 60 พลัดตกหกล้มจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน มีเพียงร้อยละ 5 ที่ตกหรือล้มจากขั้นบันได สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่
1. ด้านร่างกาย ทั้งการมองเห็น การเดิน การทรงตัว และโรคประจำตัว
2. ด้านพฤติกรรม คือ ขาดการออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์
3. ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ พื้นลื่นต่างระดับ บันไดไม่มีราวจับ
4. ด้านจิตใจ ขาดความมั่นใจในการเดิน
“จากข้อมูลการรักษาพยาบาล พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 80 ใช้สิทธิบัตรทองในการรักษาพยาบาล โดย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุหกล้มทุกปี หรือกว่า 4 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 20 ของผู้หกล้มได้รับบาดเจ็บ และมากกว่า 41,000 ราย ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล รัฐต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเกือบ 1,500 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดการณ์ว่าจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2576 คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุกว่า 18 ล้านคน คิดเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด” นายคารม ระบุ