3 มิ.ย. 67 – นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เผยเคสคนไข้ปอดอักเสบสาเหตุมาจากนกพิราบ
โดยคุณหมอระบุว่า “ผู้ป่วยหญิงอายุ 52 ปี บ้านอยู่ กทม. ปกติแข็งแรงดี ไม่ไอ ไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด ไม่ปวดหัว ไม่เคยสูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว ไปตรวจร่างกายประจำปี วันที่ 12 พฤษภาคม 2567 เอกซเรย์ปอดพบก้อนเล็กๆ เกิดขึ้นใหม่ที่ปอดขวากลีบบน (ดูรูป) เอกซเรย์ปอดก่อนหน้านั้น 1 ปีปกติ ทำคอมพิวเตอร์ปอดพบก้อนขนาด 0.9 × 0.9 × 1.7 เซนติเมตร เห็นโพรงอยู่ข้างในก้อนที่ปอดขวากลีบบน (ดูรูป)
ตรวจเลือดไม่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยไปรับการผ่าตัดปอดเอาก้อนจากปอดขวากลีบบนออกที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมเพราะสงสัยมะเร็งปอด ผลพยาธิวิทยาเป็นปอดอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส ตรวจเลือดหาคริปโตคอคคัสแอนติเจนหลังผ่าตัด 4 วันให้ผลบวก titer 1:8 แพทย์เริ่มให้การรักษาด้วยยา fluconazole ผู้ป่วยมาขอคำแนะนำหลังจากนี้ควรทำอย่างไรต่อไป
ซักประวัติ มีนกพิราบอยู่แถวบ้านหลายตัว ให้อาหารนกพิราบประจำ ผู้ป่วยรายนี้หายใจสปอร์ของเชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus Neoformans) จากมูลนกพิราบเข้าไปในปอด ทำให้เกิดปอดอักเสบเป็นก้อนที่มีโพรงข้างใน โชคดีที่เชื้อราไม่ได้กระจายออกนอกปอดเนื่องจากร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันดี วางแผนให้ยาฆ่าเชื้อราฟลูโคนาโซลชนิดกินต่อไปประมาณ 6 เดือน แนะนำให้อยู่ห่าง และหลีกเลี่ยงให้อาหารนกพิราบ”