12 มิ.ย. 67 – เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า นักวิจัย จุฬาฯ พบหอยทากบกเรืองแสงตัวแรกของไทย และของโลกในรอบ 80 ปี เตรียมถอดรหัสพันธุกรรม ปูทางสู่การวิจัยทางการแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านการเรืองแสงของหอย
หอยทากบกเรืองแสง ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี พ.ศ. 2485 ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่น ดร.ยาตะ ฮาเนดะ (Dr. Yata Haneda) ซึ่งในเวลานั้น หอยทากสกุล Quantula ชนิด Striata ที่ค้นพบ จัดได้ว่าเป็นหอยทากบกเพียงชนิดเดียวในโลกที่เรืองแสงได้
อีกเกือบ 80 ปีต่อมา หอยบกที่มีความสามารถในการเรืองแสงถูกค้นพบอีกครั้งในประเทศไทย! โดยทีมนักวิจัยจุฬาฯ นำโดย ดร.อาทิตย์ พลโยธา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบหอยเรืองแสงตัวแรกของไทย เป็นหอยทากบกสกุล Phuphania ที่อาศัยอยู่บริเวณเขาหินปูน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
“การค้นพบหอยเรืองแสงในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าระบบนิเวศของไทยมีความหลากหลาย และน่าจะยังมีสัตว์หรือพืชพันธุ์อีกหลายอย่าง ที่มีเฉพาะในประเทศไทยหรือเฉพาะในภูมิภาคนี้เท่านั้น ที่รอให้เราค้นพบและศึกษา” ดร.อาทิตย์กล่าว
การค้นพบหอยทากบกเรืองแสงครั้งแรกในประเทศไทยนับเป็นการเปิดประตูให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึกด้านการปรับตัวและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ส่งข้อมูลเรื่องราวการค้นพบ “หอยทากบกเรืองแสงของไทย” เข้าร่วมแข่งขันในเวที “International Mollusc of the Year 2024” การแข่งขันที่เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกส่งผลงานที่ตนศึกษาหรือค้นพบเข้าประกวด และหอยทากบกเรืองแสงของไทยก็ชนะผลโหวตเป็นอันดับ 1 ถูกคัดเลือกให้เป็น “หอยนานาชาติ ประจำปี 2024” ซึ่งความสำคัญของการชนะผลโหวตนี้จะทำให้ไทยได้รับการสนับสนุนการถอดรหัสและศึกษาพันธุกรรมหอยทากชนิดดังกล่าวในลำดับต่อไป
การวิจัยเกี่ยวกับหอยในอนาคต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิโยรส ทองเกิด อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงการวิจัยเกี่ยวกับหอยในอนาคตว่า หอยทากบกเรืองแสงของไทยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็น International Mollusc of the Year ในครั้งนี้จะได้นำไปวิเคราะห์และผลิตข้อมูลจีโนมฉบับเต็มต่อไป ซึ่งทางหน่วยงานผู้จัดจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
“ข้อมูลจีโนม เป็นพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิต หรือข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ๆ โดยนับรวมทั้งส่วนที่เป็นยีนและส่วนที่ไม่มีการถอดรหัสด้วย ซึ่งเราต้องการทราบว่ายีนใดที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงออก แล้วทำให้หอยสามารถเรืองแสงได้ ข้อมูลที่ได้ก็จะต้องนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับหอยเรืองแสงที่อยู่ในระบบนิเวศอื่น ๆ เช่น น้ำจืดและทะเล เพื่อให้เข้าใจวิวัฒนาการของการเรืองแสงในสัตว์กลุ่มนี้”
นอกจากการศึกษาเรื่องการเรืองแสงของหอยแล้ว ทีมวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กำลังศึกษาเกี่ยวกับ “เมือกจากหอย” เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะในการผลิตเป็นผ้าก็อตพันแผล
“ปัจจุบันทีมนักวิจัยได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาจีโนมของหอยเพื่อหาโปรตีนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเมือกเหนียว การค้นพบโปรตีนเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจกระบวนการทางชีวภาพที่ทำให้หอยสามารถผลิตเมือกที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวได้ และอาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้ในอนาคต” ดร.ปิโยรส กล่าวปิดท้าย
ที่มา/ภาพ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย