24 ก.ค. 67 – สภาผู้แทนราษฎรเข้าร่วมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 ที่ได้เสนอแก้ไขเนื้อความ จากเดิม ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ‘ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (2) ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน’ เปลี่ยนเป็น ‘ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (2) ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวตักเตือนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดเป็นการด้อยค่า’
ความสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กจากการกำหนดโทษด้วยความรุนแรงจากผู้ใช้อำนาจในการปกครอง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อันจะก่อให้เกิดให้เกิดประโยชน์ในการคุ้มครอง สิทธิเด็กและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญา ว่าด้วยสิทธิเด็กที่จะนำไปสู่มาตรการที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อเด็ก (The best interest of child)
เพราะการปกป้องสิทธิเด็กนั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ในการจะทำให้พวกเขาได้เติบโตมาอย่างสมบูรณ์ จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ และด้วยหลักการของร่างฯ นี้ ที่มีเจตนารมณ์เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก ให้เด็กไม่ถูกใช้ความรุนแรงในการกำหนดโทษที่อาจเลยเถิดเป็นการทำร้าย สภาผู้แทนราษฎรจึงมีมติเอกฉันท์ เห็นชอบ 400 เสียง ให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เข้าพิจารณาต่อในชั้นกรรมาธิการ
อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 มีข้อจำกัดอยู่ที่การนิยามถ้อยคำที่เปิดช่องว่างทางการตีความ ไม่ว่าจะเป็นคำว่าด้อยค่า ทารุณกรรม และการทำร้ายจิตใจ ที่ยังไม่มีนิยามชัดเจนมากเพียงพอ จึงอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพิ่มเติมในวาระถัดไป