กรมการแพทย์ เตือน “โรคมือ เท้า ปาก” ระบาดเพิ่มขึ้นช่วงหน้าฝน พบบ่อยในเด็กเล็ก แนะผู้ปกครองควรดูแล หมั่นสังเกตอาการของเด็ก

56

26 ก.ค. 67 – นายแพทย์ ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคมือ เท้า ปาก มักพบบ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบได้ประปรายในเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกัน เช่น ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีและจะพบเพิ่มขึ้นในฤดูฝน ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร โดยเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ปากจากการสัมผัสน้ำลาย น้ำมูก น้ำตุ่มพองและแผลของผู้ป่วยและการใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้น สถานศึกษาควรมีมาตรการคัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียนทุกเช้า เพื่อเฝ้าระวังการป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก และโรคระบาดอื่นๆ

3.3

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมการแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยเด็กจะมีไข้สูง 3-4 วัน และเริ่มมีตุ่มน้ำใสขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ปาก ลิ้น เหงือก ในวันแรกของไข้ มีอาการเจ็บร่วมด้วย ทำให้ทานอาหารไม่ได้ มีน้ำลายไหล และอาจมีผื่นขึ้นตามขาทั้ง 2 ข้าง อาการมักจะหายเองภายใน 5-7 วัน ในผู้ใหญ่ ลักษณะอาการจะแตกต่างจากเด็ก คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว มีแผลในปาก อาจมีผื่นขึ้นหรือไม่มีก็ได้ ส่วนใหญ่ไข้จะลดลงและหายไปเองภายใน 1 สัปดาห์ แผลในปากจะดีขึ้นเอง ตุ่มน้ำที่มือหรือเท้าจะค่อยๆ หายไปหากไม่มีอาการแทรกซ้อน โดยโรคแทรกซ้อนที่พบได้คือ เยื่อหุ้มสมอง หรือเนื้อสมองอักเสบ นอกจากนี้อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากพบว่ามีไข้สูง 39 องศาเซลเซียส หรือ ไข้สูงมากกว่า 2 วัน เหนื่อย หอบซึม หลับทั้งวัน ปลุกตื่นยาก อาเจียนบ่อย มากกว่า 2-3 ครั้ง อาการแขนขาอ่อนแรง มีอาการผวาหรือกระตุก จากเดิมไม่เคยมีอาการมาก่อนควรรีบไปพบแพทย์ ปัจจุบันโรคมือเท้าปากสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่เกิดอาการรุนแรงได้ด้วยการฉีดวัคซีน แนะนำให้การฉีดวัคซีนมือเท้าปาก คือ ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี การดูแลสุขอนามัยเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีโอกาสสัมผัสกับโรคได้ เช่น สนามเด็กเล่น ตลาด หรือแหล่งที่มีคนแออัด