สะเทือนไต! บุฟเฟต์-หมูกระทะ-อาหารสำเร็จรูป ทำไทยกินเค็มเกินเกณฑ์เกือบ 2 เท่า ป่วยโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ทะลุ 22 ล้านคน

114

16 ส.ค. 67 – นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมว่า โรคไม่ติดต่อ หรือ กลุ่มโรค NCDs ประกอบด้วยหลายโรคหลัก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงโรคไตเรื้อรัง เหล่านี้ เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญระดับประเทศ ร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุในประเทศไทยก็มาจากโรค NCDs ซึ่งการได้รับโซเดียมเกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีนัยสำคัญ และการได้รับโซเดียมเกินยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตเรื้อรัง ซึ่งมีคนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียมจำนวนถึง 22.05 ล้านคน (โรคความดันโลหิตสูง 13.2 ล้านคน โรคไต 7.6 ล้านคน โรคหัวใจขาดเลือด 0.75 ล้านคน โรคหลอดเลือดสมอง 0.5 ล้านคน) จึงต้องมีหลายมาตรการและหลายหน่วยงานรวมถึงผู้ประกอบการ มาร่วมช่วยกันลดโซเดียมในอาหาร กรมควบคุมโรคตั้งเป้าหมายให้ลดการบริโภคโซเดียมลง ร้อยละ 30 ภายในปี พ.ศ.2568

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เครือข่ายฯ ได้ขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2555 ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. โดยมีบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข WHO ประจำประเทศไทย และภาคีเครือข่ายจาก สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม การวิจัย และการรณรงค์เตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ การกินเค็มหรือโซเดียมเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลเสียทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันพบคนไข้ป่วยเป็นโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35 – 40 ปี จากเดิมที่อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 50 – 60 ปี มีผลจากวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟ่ต์ ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ หรือใส่เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อกินสะสมบ่อยๆ จึงติดรสเค็มแบบไม่รู้ตัว อีกปัจจัยคือการกินเค็มตั้งแต่เด็ก เช่น ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย อาหารพวกนี้มีโซเดียมสูง แม้กระทั่งอาหารที่ผู้ปกครองปรุงเอง แต่ใช้ความเค็มสูง เมื่อเด็กที่น้ำหนักตัวน้อยกิน ก็ทำให้บริโภคโซเดียมเกินเกณฑ์ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ลิ้นจะติดเค็ม มีผลทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เร็วขึ้น ดังนั้นอาหารที่กินแต่ละวัน ผู้บริโภคมักคิดว่าอาหารที่เค็มจะมีโซเดียมสูง เพราะปรุงรสด้วย เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำพริก ปลาร้า และซอสหรือผงปรุงรสอื่น ๆ แต่ทางการแพทย์พบว่ามีโซเดียมที่ไม่เค็ม คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) หรือ ผงชูรส แต่มีผลต่อสุขภาพไม่ต่างกัน เปรียบเทียบง่าย ๆ การกินก๋วยเตี๋ยว น้ำซุปที่ร้านค้าปรุงจะใส่ซุปก้อนสำเร็จรูป ผงชูรส ซีอิ๊ว ซอสปรุง ในน้ำจะมีโซเดียม 60 – 70% ขณะที่เส้น ผัก เนื้อสัตว์ มีโซเดียมไม่ถึง 30 – 40% แม้ความอร่อยจะอยู่ในน้ำซุป แต่เป็นความอร่อยที่แฝงไปด้วยภัยเงียบ