สถานทูตจีนชี้แจง สินค้าราคาถูกทะลักไทย ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งคู่ สินค้าที่นำเข้าถูกนำมาผลิตเพิ่มมูลค่าก่อนการส่งออกในท้ายสุด

17

9 ก.ย. 67 – สถานทูตจีนประจำประเทศไทยโพสต์ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-ไทย เมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา โดยชี้แจงในเรื่องความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างไทยและจีนในปัจจุบัน ระบุว่า

การค้าระหว่างจีนและไทยมีโครงสร้างที่ชดเชยซึ่งกันและกัน เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยก่อนปี 2562 จีนขาดดุลและไทยเกินดุล แต่หลังจากปี 2563 ได้เปลี่ยนเป็นจีนเกินดุลและไทยขาดดุล เป็นผลมาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่การขาดดุลหรือเกินดุลไม่สามารถกมองอย่างง่ายๆว่า ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ สิ่งสำคัญคือ ขึ้นอยู่กับว่าการค้าที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการ และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ จีนมีตลาดที่ใหญ่มาก แต่ไม่เคยตั้งเป้าว่าจะต้องเกินดุลการค้ากับไทย จีนยินดีเปิดตลาดให้ไทยส่งออกไปยังจีนมากขึ้น และได้อำนวยความสะดวก ออกมาตรการการสนับสนุนในด้านต่างๆ

เมื่อเร็วๆ นี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากจากสื่อท้องถิ่นและในโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าจีนมายังประเทศไทย ความจริง เกือบ 80% สินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีน เป็นสินค้าทุน สินค้าขั้นกลาง ซึ่งถูกนำมาผลิต เพิ่มมูลค่า ก่อนการส่งออกในท้ายสุด

ส่วนสิ่งที่เรียกว่าสินค้าราคาถูกที่ดึงดูดความสนใจของประชาชน ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาหาร สินค้าเพื่อสุขภาพ เสื้อผ้าและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ของยอดมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีน หรืออีกแง่สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าแค่ครึ่งเดียวของสินค้าเกษตรของไทยที่ส่งออกไปจีน โดยสินค้าเกษตรเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เสริมความต้องการของประชาชนในแต่ละประเทศ เช่น ทุเรียนไทย ส่งออกไปจีน ส่วนส้มและผลไม้เขตอบอุ่นของจีนบางชนิดส่งเข้ามาไทย

จากรายงานของสื่อ สินค้าจีนในบางส่วนมีปัญหาไม่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและยาของไทย (อย.) หรือไม่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (สมอ.) รวมถึงไม่ได้มาตรฐานอื่นๆ เป็นต้น รัฐบาลจีนเรียกร้องให้บริษัทจีนและชาวจีนดำเนินกิจการตามกฎหมาย ข้อบังคับในต่างประเทศอย่างเคร่งครัดโดยตลอด เราสนับสนุนรัฐบาลไทยให้เข้มงวดในการกำกับดูแลตามกฎหมาย แก้ไข ปราบปรามการละเมิดกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมากิจการขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีของไทย เผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อประกอบกับปัจจัยเชิงลบอื่นๆ ทำให้กิจการเอสเอ็มอี ประสบความยากลำบาก เราตระหนักดีถึงความสำคัญของกิจการเหล่านี้ เข้าใจถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้น เราเชื่อว่ากิจการเหล่านี้ควรได้รับการสนับสนุน ช่วยเหลือ และเรายินดีที่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ช่วยเหลือ พัฒนา ภายใต้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างยั่งยืนระหว่างจีนและไทย