22 ต.ค. 67 – คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบของนายจ้างและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้างตามมาตรา 47 วรรคสอง และการนำส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรงจากวาตภัยและอุทกภัยในงวดเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 ถึงงวดเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่นายจ้างและผู้ประกันตน
2. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการลดหย่อนการออกเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของนายจ้าง ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และผู้ประกันตนมาตรา 39 ในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง โดยให้การลดหย่อนการออกเงินสมทบมีผลใช้บังคับในงวดเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 ถึงงวดเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568
สาระสำคัญ
1. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. …. (เดิม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้)
โดยให้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2567
จังหวัดที่ได้รับการขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการฯ และการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 ได้แก่ กระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ พะเยา พังงา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย สตูล สระบุรี สุโขทัย สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุดรธานี และอุตรดิตถ์
2. ร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. ….
(1) กรณีนายจ้างซึ่งขึ้นทะเบียนนายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ในท้องที่ที่กำหนดในข้อ 1. ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยให้นายจ้าง และผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบ จากเดิมอัตราฝ่ายละร้อยละ 5 เป็นอัตราฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน
(2) กรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งมีทะเบียนผู้ประกันตนในท้องที่ที่กำหนดในข้อ 1. ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 39 โดยนำส่งเงินสมทบ จากเดิมอัตราร้อยละ 9 เป็นอัตราร้อยละ 5.90 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน คิดเป็นจำนวนเงิน จากเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 283 บาท ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ รง. ครั้งที่ 14/2567 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 มีมติเห็นชอบร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับแล้ว