เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 67 ณ วัดบ้านเขวาทุ่ง ตำบลเขวาทุ่ง อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสั่งการโมเดลการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด 1 ใน 25 จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องจังหวัดสีขาวทั่วประเทศ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการ และผู้บริหารส่วนท้องถิ่นจังหวัดร้อยเอ็ดเข้าร่วมประชุม โดยมีประชาชนมารอให้การต้อนรับอย่างเนืองแน่น
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณและเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่ดำเนินงานภายใต้โครงการธวัชบุรีโมเดล จังหวัดร้อยเอ็ด และท่าวังผาโมเดล จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดถือเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นนโยบายสำคัญที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ทำให้สามารถจับกุม กวาดล้างยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก จากรายงานถือเป็นผลงานที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง ที่มีสถิติที่เพิ่มขึ้น ทั้งการจับกุมกวาดล้าง ผู้ค้ารายใหญ่ รายกลาง และรายย่อย จึงขอให้ทุกภาคส่วนมุ่งมั่นดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดต่อไป พร้อมยกระดับให้เข้มข้นขึ้น โดยให้ขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ตามภูมิภาค โดยมีจังหวัดนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ : เชียงใหม่ ภาคกลาง : อุทัยธานี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : สกลนคร นครพนม ภาคตะวันออก : ระยอง ภาคใต้ : นครศรีธรรมราช ตรัง นราธิวาส
ในส่วนของการปราบปราม นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ กวาดล้างผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นอย่างจริงจังและเด็ดขาด และให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของประชาชนโดยเร่งด่วน ส่วนการบำบัดรักษา มอบหมายให้ ปปส. อปท. มหาดไทย สาธารณสุข ตำรวจ ทหาร ทำงานอย่างบูรณาการ พิจารณาแนวทางการเพิ่มสถานพยาบาลในการรองรับการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดให้เพียงพอ เช่น การเปิดศูนย์บำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ในพื้นที่ของส่วนราชการที่ควบคุมได้ โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้ามาจัดการเรื่องการบำบัดดูแล ทั้งนี้ให้พิจารณาแผนการดำเนินงานให้มีความเหมาะสมต่อไป
“หนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยตัดวงจรยาเสพติดได้อย่างยั่งยืนคือ กระบวนการบำบัดรักษาไม่ให้กลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ ผ่านการฝึกอาชีพ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เข้ารับการบำบัด ขอให้ทุกภาคส่วนขยายผลการดำเนินงานในเรื่องศูนย์ฝึกอาชีพให้เพียงพอ ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ ปัญหายาเสพติดต้องหมดไป ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกัน เชื่อว่าจะประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จังหวัดนำร่อง 10 จังหวัดเหล่านี้ จะต้องประกาศได้ว่าเป็นจังหวัดปลอดยาเสพติด หรือปัญหายาเสพติดลดลงให้ได้มากถึง 90% โดยมีห้วงเวลาเป้าหมาย ก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ ซึ่งทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันสร้างสังคม ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอและจังหวัดสีขาว เพื่อประเทศไทยสีขาว ปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืนต่อไป“ นายกรัฐมนตรีย้ำ