เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 67 ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้ามอบนโยบายแก่กรมสรรพสามิต โดยมีอธิบดี คณะผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต ให้การต้อนรับและรับมอบนโยบาย โดยต้องการให้กรมสรรพสามิตเป็นกลไกและรักษาสมดุลด้านภาษีระหว่างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ธรรมาภิบาล และรายได้การจัดเก็บ โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ยานยนต์ : ใช้กลไกภาษีกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมจากอุตสาหกรรมขนาดเล็กถึงใหญ่ รวมถึงการจ้างงาน โดยใช้ภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิต PHEV BEV และ FCEV ให้เพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ยังคงรักษาฐานการผลิตรถยนต์ ICE และ HEV ไว้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องกำหนดเวลาชัดเจน และให้แนวทางว่ากรมสรรพสามิตสามารถสูญเสียรายได้ในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว ซึ่งเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจประเทศได้
2. น้ำมัน : กำหนดกลไกราคาคาร์บอนในภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน 6 ประเภท ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียน โดยคำนวณจากค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเบื้องต้นกำหนดราคาคาร์บอนที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ โดยต้องไม่ให้กระทบต่อราคาพลังงาน
3. สุขภาพประชาชน : ใช้กลไกภาษีเพื่อสนับสนุนการแพทย์เชิงป้องกัน ลดการบริโภคอาหารที่เป็นโทษต่อสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ลดภาระงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศ โดยดำเนินการจัดเก็บภาษีความหวานแบบผสมต่อเนื่อง และเข้าสู่เฟส 4 ตามกำหนดเวลา ให้กรมสรรพสามิตศึกษาพิจารณากลไกภาษีโซเดียมในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม รวมทั้งภาษีไขมัน เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมและไขมัน ตั้งเป้าคนไทยลดบริโภคเค็มลง 30% ภายในปี 2568 ทั้งนี้ต้องมีระยะเวลาก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ให้ผู้ประกอบการปรับตัว
4. แบตเตอรี่ : ให้ศึกษาพิจารณาเปลี่ยนจากอัตราคงที่ 8% เป็นอัตราแบบขั้นบันได โดยคำนึงถึงปัจจัย Life Cycle และค่าพลังงานจำเพาะต่อน้ำหนัก รวมถึงชนิดของแบตเตอรี่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สะอาด อุตสาหกรรมรถยนต์ EV
5. บุหรี่ : ให้จัดเก็บภาษีแบบผสม โดยพิจารณาและศึกษาความเหมาะสมในการปรับปรุงโครงสร้างภาษีบุหรี่แบบอัตราเดียว (Singler Rate) เพื่อลดการบิดเบือนกลไกราคา โดยให้พิจารณาปัจจัยความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและสนับสนุนผู้เพาะปลูกใบยาสูบในประเทศด้วย รวมทั้งดำเนินการระบบตรวจ ติด ตาม บุหรี่ โดยใช้ระบบ QR Code ในบุหรี่ เพื่อป้องกันบุหรี่เถื่อนทั้งระบบ พร้อมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเสียภาษีและแหล่งที่มาของบุหรี่เพื่อมั่นใจได้ว่าเป็นบุหรี่ที่ได้มาตรฐานและตรวจสอบโดยกรมสรรพสามิต