เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 วลา 14.30 น. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศปอส.ตร.) แถลงผลการปฏิบัติการ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” 2 ปฏิบัติการ จับแก๊งจีนเทาเช่าเบอร์โทร 02-xxxxxxx กว่าหมื่นเลขหมาย โทรหลอกประชาชนมากกว่า 700 ล้านครั้ง และใช้เครื่องส่ง SMS ปลอม ( False Base Station ) ส่งข้อความถึงประชาชนภายใน 3 วัน เกือบล้านครั้ง โดยมี พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. , มล.ภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า , นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. , ณวิสิฐศักดิ์ เจริญไชย ผู้จัดการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลง ณ ห้องสารสิน ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ตามนโยบาย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ โดยข้อที่ 9 ได้กำหนดว่า “รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ความช่วยเหลือ และเยียวยาเหยื่อได้อย่างทันท่วงที
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศปอส.ตร.) สั่งการให้ พล.ต.ท.ธัชชัยฯ นำ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” มาใช้ในการลดความรุนแรงของปัญหาอาชญากรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมุ่งเน้นการตัดช่องติดต่อหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ โดยจากการสืบสวนของกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ภายใต้การกำกับของ พล.ต.ต.จิรวัฒน์ พยุงธรรม รอง ผบช.ฯ รรท.ผบช.สอท. โดยมี พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. เป็นหัวหน้าสืบสวนฯ
ปฏิบัติการที่ 1 : พบความผิดปกติของการใช้หมายเลขโทรศัพท์ที่มาใช้หลอกประชาชนจำนวนมาก เป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02-xxxxxxxx จึงได้มีการตรวจสอบ พบว่ากลุ่มหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 ดังกล่าวเป็นหมายเลขที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้โทรหลอกลวงประชาชนให้ร่วมทำกิจกรรมและร่วมลงทุนรูปแบบต่าง ๆ
จากการตรวจสอบทำให้ทราบว่าชุดหมายเลข 02 ดังกล่าวนั้น ได้จัดสรรให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์มือถือ โดยมีนิติบุคคลจำนวน 3 บริษัทได้ขอจดทะเบียนเลขหมายดังกล่าว เพื่อประกอบธุรกิจอุปกรณ์ตู้สาขาแบบ SIP Server ด้วยระบบ SIP Trunk Solution โดยรูปแบบวิธีการทำงานของระบบ SIP Trunk Solution นั้น เป็นเทคโนโลยีเพื่อให้บริการรูปแบบโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ที่ใช้งานผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ซึ่งสามารถบริหารจัดใช้งานเลขหมายผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ โดยไม่ติดข้อจำกัดด้านสถานที่ และข้อจำกัดในการวางระบบโครงข่ายสายสัญญาณต่างๆ โดยจะเป็นหมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 02-xxxxxxx ทั้งหมด
จากการสืบสวนทำให้ทราบว่ามีนิติบุคคลจำนวน 3 ราย ได้ขอจดทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย 02 ดังกล่าว รวมจำนวน 11,201 เลขหมาย จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริษัททั้ง 3 แห่ง ทำให้ทราบข้อมูล ดังนี้
1. บริษัท หรวนหยุน อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด จดทะเบียนจำนวน 3,000 เลขหมาย พบสถิติการใช้งาน (call attempt) รวม 256,219,676 ครั้ง มีกรรมการบริษัทจำนวน 3 ราย เป็นชาวจีน (ผู้ถือหุ้นใหญ่) จำนวน 1 ราย และเป็นชาวไทยอีกจำนวน 2 ราย
2. บริษัท ยูน เตี้ยน เค่อ เทคโนโลยี (ไทยแลนด์) จำกัด จดทะเบียนจำนวน 6,000 เลขหมาย พบสถิติการใช้งาน (call attempt) รวม 345,339,574 ครั้ง มีกรรมการบริษัทจำนวน 3 ราย เป็นชาวจีน จำนวน 2 ราย และเป็นชาวไทยจำนวน 1 ราย
3. บริษัท พรีมา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน จดทะเบียนจำนวน 2,201 เลข พบสถิติการใช้งาน (call attempt) รวม 128,626,642 ครั้ง มีกรรมการบริษัทจำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นชาวจีนทั้งหมด
จากการตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทั้ง 3 บริษัท ได้ใช้เบอร์ 02 โทรไปหาเหยื่อแล้วจำนวน 730,185,892 ครั้ง
เมื่อเจ้าหน้าที่ ได้ตรวจสอบการเดินทางของกรรมการบริษัทชาวจีนทั้ง 3 แห่ง กับทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ปรากฏว่าไม่พบการเดินทางเข้าออกประเทศไทย มีเพียงชาวจีน 1 ราย ที่ได้ออกนอกประเทศไทยไปตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2566 และไม่ได้กลับเข้ามาประเทศไทยอีกเลย
ตำรวจจึงได้รวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ จนศาลอนุมัติหมายจับทั้งหมด 24 ราย เป็นต่างชาติจำนวน 9 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ทำหน้าที่กรรมการบริษัท และเป็นผู้จัดการค่าใช้จ่ายของบริษัท ได้แก่ ชาวจีน จำนวน 3 ราย ชาวสิงคโปร์ จำนวน 1 ราย ชาวมาเลเซีย จำนวน 1 ราย ชาวเมียนมา จำนวน 1 ราย และชาวลาว จำนวน 3 ราย และออกหมายจับคนไทย จำนวน 15 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริษัท, ผู้จัดการค่าใช้จ่าย และบัญชีม้า
ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องหาในขบวนการได้แล้วจำนวน 10 ราย เป็นคนไทยจำนวน 9 ราย และสัญชาติเมียนมาจำนวน 1 ราย โดยดำเนินคดีฐาน ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ร่วมกันนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ , ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีการและมีมุ่งหมายเพื่อการมิชอบด้วยกฎหมาย (สมคบกันเป็น อั้งยี่ หรือ ซ่องโจร) , สมคบกันกระทำความผิดฟอกเงิน , ร่วมกันฟอกเงิน และความผิดฐานบัญชีม้า โดยขณะนี้ได้ประสานตำรวจสากล (Interpol) ในการออกหมายแดงเพื่อจับกุมตัวผู้ร่วมขบวนการชาวต่างชาติที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ กลับมาดำเนินคดีตามกฎหมายที่ประเทศไทยต่อไป
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่กลุ่มคนร้ายต่างชาติร่วมกับคนไทย ใช้กลไกการจดทะเบียนบริษัทมาเช่าโทรศัพท์หมาย 02-xxxxxxx เพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นโทรศัพท์พื้นฐานทั่วไปในประเทศไทย แต่แท้จริงแล้วโทรมาจากต่างประเทศตามชายแดนของประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะนี้ “มาตรการระเบิดสะพานโจร” มุ่งเน้นการตัดช่องทางสื่อสารของคนร้ายของประชาชน ทำให้คดีอาชญากรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
ปฏิบัติการที่ 2 : จับกุมแก๊งจีนเทา ใช้เครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) ส่งข้อความถึงประชาชนภายใน 3 วัน เกือบล้านครั้ง
พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวว่า จาก “มาตรการระเบิดสะพานโจร” ทำให้ตรวจสอบพบความผิดปกติของการส่ง SMS ผ่านเครื่องส่ง SMS ปลอม (False Base Station) โดยเกิดจากการร่วมปฏิบัติการของ กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ AIS สืบสวนพบว่ามีคนร้ายขับรถที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ SMS ปลอม ข้อความ “คะแนน 9,268 ของคุณใกล้หมดอายุแล้ว! รีบ แลกของขวัญเลย” บริเวณย่านถนนสุขุมวิทที่มีคนพลุกพล่าน
ต่อมาพบคนร้ายเป็นชายสัญชาติจีน ทราบชื่อภายหลังคือ นายหยาง มู่ยี่ อายุ 35 ปี ตรวจสอบภายในรถพบเครื่องจำลองสถานีฐานกำลังทำงานอยู่ และมีการเชื่อมต่อกับเครื่องจ่ายไฟเคลื่อนที่ Power Station กำลังไฟ 8,000 W จำนวน 1 ตู้ , เราเตอร์ไวไฟ จำนวน 1 ตัว และโทรศัพท์มือถืออีกจำนวน 4 เครื่อง จากการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส พบว่าเป็นเครื่องส่งข้อความ (SMS) ซึ่งเป็น ในลักษณะของการจำลองเสา (false base station) เพื่อส่งสัญญาณปลอมของเครือข่าย AIS โดยอุปกรณ์นี้เป็นเครื่องวิทยุโทรคมนาคม ที่มีลักษณะการดัดแปลงการส่งสัญญาณในคลื่นความถี่ต่างๆ และจากการตรวจสอบก็ไม่พบการได้รับอนุญาตจาก กสทช.แต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อตรวจสอบแอปพลิเคชันที่ผู้ต้องหาใช้ส่งข้อความผ่านเครื่อง false base Station พบว่า ภายในเวลา 3 วัน (11-13 พฤศจิกายน 2567) มีการส่งข้อความไปแล้วเกือบ 1 ล้านครั้ง
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ทำ มี ใช้ นำเข้า นำออก หรือค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” , “ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาต” และ “ใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม” ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.สอท.1 ดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมอยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผลไปถึงตัวผู้จ้างวาน และเครือข่ายของขบวนการนี้เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
นอกจากนี้ พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติการจับกุมครั้งนี้ถือเป็นการตัดวงจรสำคัญของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นการปิดโอกาสของคนร้ายในการติดต่อประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อของขบวนการดังกล่าว โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี ยังคงร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเข้มข้นต่อไป