คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องคลอดแห่งใหม่ ยกระดับมาตรฐานการดูแลแม่และทารกที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัย ความสะดวกสบายให้กับคุณแม่และทารกแรกเกิด โดยเน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมาตรฐานการดูแลระดับสูง เพื่อให้ประสบการณ์การคลอดเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัยที่สุด ณ ชั้น 3 อาคารผ่าตัด สูติกรรม คณะแพทยศาสตร์ มช. ในวันอังคารที่ 25 มีนาคม 2568 ระหว่างเวลา 09.30-11.00 น. ณ ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมีคณะแพทยศาสตร์ มช.
รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “เนื่องมาจากห้องคลอดของหน่วยคลอดและหน่วยผ่าตัดสูตินรีเวชโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการแก่สตรีตั้งครรภ์และผู้ป่วยทางนรีเวชมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี จึงถึงเวลาต้องปรับปรุงทางกายภาพ เพื่อให้รับบริการได้ประโยชน์สูงสุด
โดยห้องคลอดปรับปรุงใหม่นี้ ถูกออกแบบตามแนวคิด “ระบบทางเดียว” โดยแยกของสะอาดและของสกปรกออกจากกัน ลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน พร้อมทั้งใช้วัสดุตกแต่ง เช่น ผนังและฝ้าเพดานที่มีพื้นผิวเรียบ รอยต่อน้อย เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ ยังติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแรงดันอากาศ รวมถึงระบบไหลเวียนและกรองอากาศ เพื่อให้บริเวณเตียงคลอดมีอากาศสะอาดปราศจากเชื้อโรค
นอกจากนี้ ห้องคลอดใหม่ยังมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัย รองรับการคลอดทุกรูปแบบ รวมถึงภาวะฉุกเฉิน ห้องพักสำหรับคลอดที่เป็นส่วนตัว ออกแบบให้เหมาะกับการผ่อนคลายของคุณแม่ โดยมีทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระบบดูแลทารกแรกเกิดแบบครบวงจร ป้องกันภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่แรกเกิด ภายในห้องคลอดยังติดตั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย ทั้งระบบไฟฟ้า หัวจ่ายแก๊ส และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งไม่เพียงช่วยเสริมความปลอดภัยในการรักษาของผู้เข้ารับบริการเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนทางการแพทย์ ให้ผู้เรียนและผู้ปฏิบัติงานสามารถฝึกปฏิบัติในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและทันสมัย การเปิดตัวห้องคลอดนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์และการศึกษาด้านสูติศาสตร์ เพื่อความปลอดภัยและคุณภาพสูงสุดแก่ทั้งบุคลากรและผู้รับบริการ”
รศ.นพ. กิตติภัต เจริญขวัญ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “หน่วยคลอดของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มีความพร้อมในการให้บริการสตรีตั้งครรภ์ทุกรายที่มาคลอด ทั้งรายที่มีความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงสูง ทั้งการคลอดแบบธรรมชาติ การคลอดโดยใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย และการผ่าตัดคลอด ทั้งนี้ภาวะตั้งครรภ์เสี่ยงสูงหรือภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย 10 อันดับแรกในสตรีตั้งครรภ์ที่มาคลอดในปี พ.ศ. 2567 ได้แก่โรคเบาหวาน ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ความดันโลหิตสูง (ครรภ์เป็นพิษ) ทารกโตช้าในครรภ์ ทารกท่าก้น น้ำเดินก่อนกำหนด ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เนื้องอกมดลูก คอพอกเป็นพิษ และรกเกาะต่ำ บ่อยครั้งที่ภาวะเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 18 ของการคลอดทั้งหมดในปี พ.ศ. 2567 รวมถึงเพิ่มความจำเป็นในการผ่าตัดคลอดอีกด้วย ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมส่งมอบการดูแลที่ปลอดภัยให้กับมารดาและทารก รวมถึงผู้ป่วยทางนรีเวช ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า โดยทีมแพทย์และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูง”
ด้าน รศ.พญ.เฟื่องลดา ทองประเสริฐ อาจารย์ประจำหน่วยเวชศาสตร์มารดาและทารก ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า “ศูนย์วินิจฉัยทารกในครรภ์ (Fetal Diagnostic Center หรือ Fetal Center) เป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจคัดกรอง วินิจฉัย และดูแลรักษาทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนถึงช่วงแรกหลังคลอด ครอบคลุมทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นสูง พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางด้านวิชาการและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ทารกในครรภ์ และส่งเสริมการวิจัยอย่างต่อเนื่อง
จุดเด่นของศูนย์ คือมีความเชี่ยวชาญในการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ขั้นสูง สามารถตรวจหาความผิดปกติของทารกได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก รวมถึงความผิดปกติที่พบได้น้อย หรือวินิจฉัยได้ยาก ซึ่งศูนย์มีเคสที่ได้รับการส่งต่อเพื่อปรึกษาจากทั่วประเทศ ศูนย์ฯ ยังมีความเชี่ยวชาญด้านหัตถการเฉพาะทาง เช่นการเจาะเลือดทารกในครรภ์ และการเจาะชิ้นเนื้อรกซึ่งทำให้วินิจฉัยโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมีย กลุ่มอาการดาวน์ และโรคหายากอื่น ๆ ได้เร็วกว่าวิธีอื่น ทั้งนี้ ศูนย์วินิจฉัยทารกในครรภ์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เป็นศูนย์ที่ให้บริการตรวจชิ้นเนื้อรกและเจาะเลือดทารกในครรภ์มากที่สุดในประเทศ และสามารถตรวจวินิจฉัยโรคที่ซับซ้อนโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยระดับนานาชาติ นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์เดียวในภาคเหนือที่สามารถรักษาทารกในครรภ์โดยการเติมเลือด หรือ การส่องกล้องรักษาครรภ์แฝดที่มีภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้เพื่อให้มารดาที่ตั้งครรภ์ ได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด และดำเนินการคลอดอย่างปลอดภัยที่สุด