อย่าฉวยโอกาส! ผลสำรวจชี้ 32.43% ถูกแต๊ะอั๋ง-ลวนลาม ช่วงเล่นน้ำสงกรานต์

52

10 เม.ย. 68 – กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์สงกรานต์ ประจำปี 2568 “สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ” พร้อมทำกิจกรรมขบวนแห่กลองยาวเชิญชวนร่วมงาน “สงกรานต์เลี่ยงดื่ม เพิ่มพื้นที่สุข สนุก เคารพสิทธิ”

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ของไทยได้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจากก่อเจดีย์ทราย เข้าวัดทำบุญ สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ และเล่นพรมน้ำประแป้ง มาเป็นการสังสรรค์กินดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน ทะเลาะวิวาท คุกคามทางเพศ ซึ่งแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกับเครือข่าย สำรวจความเห็นประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 4,011 คน พบเคยถูกประแป้งที่ใบหน้า 57.79% มีเด็กอายุต่ำว่า 18 ปีถูกประแป้งที่หน้า 76.77% ส่วนถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 32.43% ถ้าแยกเฉพาะผู้พิการพบว่าถูกประแป้ง 56.79% ถูกแต๊ะอั๋ง/ลวนลาม 50.62% เช่น จับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45% ลูบไล้ร่างกาย 37.19% จับแก้ม 34.47% มองแทะโลมทำให้อึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45% ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54% และถูกสัมผัส/ล้วงอวัยวะอื่น ๆ 16.55%

“ผลสำรวจสะท้อนว่า ท่ามกลางประเพณีอันดีงามยังมีหลายคนกำลังเผชิญกับความรุนแรง ถูกคุกคามทางเพศ ที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวกระตุ้น ร่วมกับโครงสร้างทางวัฒนธรรม สังคมที่มีแนวโน้มว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องปกติ ไม่มีโทษรุนแรง ขอความช่วยเหลือได้ยาก เกิดการฝังรากลึกในวิธีคิด สนับสนุนให้วัฒนธรรมการคุกคามทางเพศในช่วงเทศกาลมีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องสร้างกระแสให้สังคมเข้าใจเรื่องการให้เกียรติ เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ไม่ฉวยโอกาสลวนลาม หรือคุกคามทางเพศ และไม่ใช้ความรุนแรง ผู้ถูกกระทำสามารถขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หน่วยงานในพื้นที่ เช่น ตำรวจ หรือสายด่วน 191 สายด่วน 1300 และ Line Chatbot @esshelpme เพื่อหยุดพฤติกรรมการกระทำผิด และไม่ให้ไปกระทำซ้ำกับผู้อื่น” ปลัด พม. กล่าว