11 เม.ย. 68 – ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หัวหน้าหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยว่า โทษของการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่ออวัยวะภายในของร่างกาย มีผลเสียต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะสะสม นอกจากสุรามีผลต่อการทำงานของตับ ตับอ่อน และกระเพาะอาหารอย่างที่ทราบกันแล้ว ยังมีผลต่อระบบประสาท ทำให้เสียการทรงตัว พูดไม่ชัด และอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติได้ หากดื่มสุราติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานหรือติดเหล้า จะส่งผลอย่างแน่นอนกับระบบความจำ ระบบประสาท ระบบเลือด และความดัน
ล่าสุดพบผู้ป่วยมะเร็งที่คอ สาเหตุหลักมาจากการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งจริง จากสถิติพบว่า ในช่วงเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ประชาชนมักจะตั้งวงสังสรรค์และมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะเสี่ยงอุบัติเหตุแล้ว การดื่มแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานานก็เสี่ยงเป็นมะเร็ง ได้เช่นกัน และมักจะมีคำถามตามมาว่า “ดื่มเท่าไหร่ถึงเป็นมะเร็ง และเป็นมะเร็งส่วนไหนได้บ้าง”
ซึ่งในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเอทานอลและอะซีตัลดีไฮด์ ทำให้ DNA คนเราเปลี่ยน ส่งผลให้เซลล์เกิดการแบ่งตัวผิดปกติ และการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณต่างๆ มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง ในส่วนต่าง ๆของร่างกายดังนี้
1. มะเร็งช่องปากและคอ
– ดื่มหนัก (50 กรัมต่อวัน หรือ 4-5 แก้ว) = ความเสี่ยงพุ่ง 5 เท่า
– ดื่มปานกลาง (1-4 แก้ว) = ยังเพิ่ม 1.8-2 เท่า
2. มะเร็งหลอดอาหาร
– ดื่มหนัก = 4-5 เท่า
– ดื่มปานกลาง = 1.5 เท่า
3. มะเร็งตับ
– ดื่มหนักเรื้อรัง (60 กรัมต่อวัน) = 2-3 เท่า
4. มะเร็งเต้านม
– ดื่มแค่ 10 กรัม (1 แก้ว) = เสี่ยงเพิ่ม 7-10%
– ดื่ม 50 กรัม = 1.6 เท่า
5. มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
– ดื่มหนัก = 1.5 เท่า
– ดื่มปานกลาง = 1.2 เท่า
โดยหลักการคำนวนคือ 1 แก้วมาตรฐาน เท่ากับ แอลกอฮอล์ 10 กรัม เช่น เบียร์ 330 มล. (5%), ไวน์ 100 มล. (12%), หรือเหล้า 30 มล. (40%) อย่างไรก็ตามหากดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ไปด้วย ความเสี่ยงที่กล่าวไปข้างต้น จะเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ โดยเฉพาะมะเร็งช่องปาก คอ และหลอดอาหาร เรียกได้ว่าเป็น “คอมโบเซ็ตตายผ่อนส่ง”
ดังนั้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึง อยากให้ทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพ ดื่มให้น้อย หรือเลิกดื่ม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งและเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
เรียบเรียง : นางสาวสมัชญา หน่อหล้า
ภาพ / ข่าว : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่