“รัฐบาล” เร่งปราบบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง พบเด็กไทยอายุ 15-29 ปี สูบเยอะ เตือนคนขาย-นักสูบ ผิดกฎหมาย พบเจอมีความผิดดำเนินคดีทุกราย

7

24 เม.ย. 68 – นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการให้ปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทำให้สถิติยอดทั้งจำหน่ายและผู้เสพลดลงกว่าร้อยละ 80

โดยที่ผ่านมาการแพร่ระบาดส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเป็นอย่างมาก โดยจากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับ สสส. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และภาคีเครือข่ายโดยการตรวจร่างกายซึ่งมีการสำรวจเกี่ยวกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้าพบว่า ในช่วงระยะเวลา 2567 – 2568 มีตัวเลขของนักสูบที่มีอายุน้อยลง ซึ่งพบเด็กและเยาวชน อายุ 15 – 29 ปี มีแนวโน้มการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 5.8% ในปี 2562 เป็น 12.2% สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของวัยรุ่นอย่างชัดเจนในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย

นายอนุกูล กล่าวว่า เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็กและเยาวชน อีกทั้งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอันตรายและภัยคุกคามต่อสุขภาพจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องให้กับประชาชน ขอให้ตระหนักว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลระยะยาวในโรงพยาบาล โดยข้อมูลจากการศึกษาการประเมินต้นทุนค่ารักษาพยาบาลจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้าในช่วงปี 2567 ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พบภาระค่าใช้จ่ายการรักษาระยะยาวจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ 1. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2.โรคหลอดเลือดสมอง 3. โรคหัวใจขาดเลือด 4.โรคหอบหืด รวมมูลค่ากว่า 306,636,973 บาท

“รัฐบาลขอย้ำว่า จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งการมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครองไม่ว่าจะเป็นการเสพ การนำเข้า หรือมีไว้เพื่อขายถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย ดังนี้
1. ผู้นำเข้า มีความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร และประกาศกระทรวงพาณิชย์ โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ผู้ขาย – ผู้ให้บริการ มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. ผู้ครอบครอง มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ ผู้ที่เสพบุหรี่ไฟฟ้าอาจมีความผิดในข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาไปซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังไม่ได้ผ่านพิธีศุลกากรอย่างถูกต้องตาม ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร ม. 246 วรรคหนึ่ง และหากพบเห็นการลักลอบผลิต ขายบุหรี่/น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า สามารถแจ้งได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ สายด่วน สคบ. 1166 เว็บไซต์ www.ocpb.go.th แอปพลิเคชัน OCPB Connect หรือศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัด” นายอนุกูล ระบุ