29 เม.ย. 68 – จากกรณี “รมช.สุรศักดิ์” เผย กระทรวงศึกษาธิการ ไฟเขียว ยกเลิกบังคับแต่งชุดลูกเสือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง ผู้ปกครองหมดกังวลซื้อชุดลูกเสือใหม่! ศธ. เตรียมประกาศ “ยกเลิกบังคับชุดลูกเสือ” ภายในเดือน เม.ย. นี้ ก่อนเปิดเทอม
ล่าสุด สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ (สลช.) มีหนังสือลงวันที่ 23 เม.ย. 2568 แจ้งแนวปฎิบัติการแต่งกายเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ในสถานศึกษา ถึง ผู้อำนวยการลูกเสือจังหวัด ทุกจังหวัด, ผู้อำนวยการลูกเสือกรุงเทพมหานคร, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน, ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ อธิบดีส่งเสริมการเรียนรู้
โดยหนังสือระบุว่า ตามที่ การแต่งเครื่องแบบของลูกเสือ ได้มีการกำหนดลักษณะ ชนิดและประเภทของเครื่องแบบลูกเสือ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสื้อ พ.ศ. 2507 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบกับคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุม เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ได้มีมติเห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. …. เพื่อกำหนดให้การแต่งกายลูกเสือ มีความยืนหยุ่น คล่องตัว เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ต่างๆ โดยเน้นความประหยัด คุ้มค่า แต่ยังคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ ธรรมเนียมปฏิบัติ และพิธีการของลูกเสือ ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้น
เพื่อให้การดำเนินงานของสถานศึกษา มีความชัดเจน ในระหว่างที่กฎกระทรวง ว่าด้วยเครื่องแบบและการแต่งกายลูกเสือ พ.ศ. …. ยังไม่ประกาศใช้ จึงขอซักซ้อมความเข้าใจในการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ ดังนี้
1. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือตามตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2510) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ประกอบด้วย หมวก เสื้อ กางเกง/กระโปรง ผ้าผูกคอ เข็มชัด ถุงเท้า รองเท้า และเครื่องหมายประกอบเครื่องแบบ ให้ใช้สำหรับงานพิธีเข้าประจำกองลูกเสือ งานพิธีของลูกเสือ หรืองานพิธีอื่นๆ ที่สถานศึกษา จังหวัด สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดขึ้น และในการฝึกอบรมหรืออยู่ค่ายพักแรม
2. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสำรองแบบลำลอง และเครื่องแบบลูกเสือสามัญแบบลำลอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507 ซึ่งประกอบด้วยเครื่องแบบนักเรียน, ผ้าผูกคอ, เครื่องหมายลูกเสือ ใช้สำหรับการฝึกอบรม การอยู่ค่ายพักแรม เท่านั้น และการแต่งเครื่องแบบลำลอง อนุโลมให้ใช้ชุดพลศึกษาได้
3. การแต่งเครื่องแบบลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่และลูกเสื้อวิสามัญแบบลำลอง อนุโลมให้แต่งเครื่องแบบตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2529) ออกตามความในพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2507
ในการนี้การจัดกิจกรรมฝึกอบรมลูกเสือ เนตรนารี ที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้ง ให้สถานศึกษาพิจารณาปรับรูปแบบลักษณะการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และสภาพอากาศ และกำหนดการแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ตามข้อ 1-3 ได้ตามความเหมาะสม