เร่งคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หนุนงานบุญประเพณีหลังออกพรรษาเป็นงาน “ปลอดเหล้า” และ “ลด ละเหล้าเข้าปีใหม่”

1525

คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รณรงค์ให้งานบุญ ประเพณีหลังออกพรรษาเป็นงาน “ปลอดเหล้า” และ“ลด ละเหล้าเข้าปีใหม่” พร้อมให้การรักษาผู้ติดเหล้า

          เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 2/2562 โดยมีนายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามผลการดำเนินงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการพิจารณามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษาและช่วงปีใหม่ 2563 และมาตรการการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 พบการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมากถึงร้อยละ 43.66 (ข้อมูลจากการดื่มแล้วขับปี 2562 อุบัติเหตุ 3,791 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 463 คน) และพบว่าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษามีจำนวนอุบัติเหตุ ผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตลดลง คณะกรรมการ ฯ จึงมีแนวคิดที่จะรณรงค์ให้งานบุญประเพณีที่จะเกิดต่อเนื่องหลังจากออกพรรษา เช่น งานกฐิน ลอยกระทง ปีใหม่ เป็นงานที่ “ปลอดเหล้า” ซึ่งนอกจากจะมีผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สุขภาพแข็งแรง” ของแต่ละครอบครัวได้ สร้างโอกาสในการไม่ดื่มเพิ่มขึ้น ตลอดจนเป็นการเชิญชวนให้ผู้ที่สามารถ “งดเหล้า ครบพรรษา” ไปสู่การ “งดเหล้า ตลอดชีวิต” รวมทั้งเข้มมาตรการ “จัดโปร จับโชว์” บังคับใช้กฎหมายเรื่องการจำหน่ายโดยวิธี ลด แลก แจกแถม เพื่อลดการเข้าถึงที่ง่ายเกินไป และรณรงค์ให้ส่วนราชการจัดงานรื่นเริงโดยปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

          นอกจากนี้ ได้จัดทำมาตรการการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คัดกรองเชิงรุกในชุมชน ส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อส่งเข้ารับการบำบัดรักษาตามระบบในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งโรงพยาบาลได้เตรียมความพร้อมรับการคัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา โดยมีกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สนับสนุนด้านวิชาการ และการบริหารจัดการตามมาตรฐาน Service plan สาขายาและสารเสพติด เพื่อลดปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการดื่มสุรา