หนึ่งเดียวในไทย! พบโครงกระดูกม้าโบราณที่มีสภาพสมบูรณ์แบบเต็มโครง ที่เมืองโบราณเวียงท่ากาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เปิดเผยการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่เมืองโบราณเวียงท่ากาน เมื่อปี พ.ศ.2556 ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญ คือ โครงกระดูกม้าโบราณที่มีสภาพสมบูรณ์แบบเต็มโครง ซึ่งขณะนี้ยังพบเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย สามารถกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 16 หรือ ช่วงระยะเวลาราว 1,000 ปีมาแล้ว การค้นพบครั้งนี้ จึงเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของวงการประวัติศาสตร์โบราณคดีประเทศไทย เนื่องจากม้าเป็นสัตว์ที่ไม่ได้มีถิ่นกำเนิดเริ่มแรกในประเทศไทย
ที่ผ่านมามีการศึกษาสารพันธุกรรม หรือ DNA ของม้าธรรมชาติในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย นำโดย สัตวแพทย์หญิง ดร.ศิรยา ชื่นกำไร ประธานมูลนิธิม้าลำปาง พบว่าม้าไทยมีพันธุกรรมอยู่ในกลุ่มเดียวกับม้าพื้นเมือง (Domestic Horse) ของมองโกล มีความสูงประมาณ 120-140 เซนติเมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทย โดยเป็นผลมาจากการขยายตัวของเส้นทางการค้าโบราณ “Tea Horse Road” เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 12 ที่ธิเขตมีความต้องการใบชาปู่เอ๋อว์จากยูนนาน จึงเกิดเส้นทางการค้าจากยูนนานไปธิเบต อินเดีย เวียดนาม และคงแพร่เข้ามายังภาคเหนือของประเทศไทยในที่สุด
นอกจากนี้ในพื้นเมืองแสนหวี ยังกล่าวว่า จักรพรรดิว่องเต้ อนุญาตให้ขุนผางคำ (พ.ศ.1720-1838) มีอำนาจเก็บภาษีผ่านด่านทั้ง 9 แห่งในเขตอาณาจักรไทเมาได้ พ่อค้าชาวจีน พม่า ไต ต้องเสียค่าผ่านด่านทุกบ้านทุกเมือง และได้แต่งตั้งเศรษฐีทั้ง 9 ประจำด่าน 9 แห่ง เป็นหัวหน้าหมู่บ้านและค้าขายม้า ซึ่งสันนิษฐานว่าบริเวณเวียงท่ากานนี้น่าจะเป็น 1 ในเมืองที่ปรากฏชื่อในบันทึกนั้นด้วยหลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าม้าเป็นสัตว์สำคัญที่ถูกจำกัดการค้าขายมาตั้งแต่โบราณ
การค้นพบโครงกระดูกม้าโบราณที่เวียงท่ากาน จึงเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย มีการนำม้ามาเลี้ยง ตั้งแต่ราว 1,000 ปีมาแล้ว และม้าตัวนี้ก็ถือเป็นม้าสำคัญ เนื่องจากมีการจัดท่าปลงศพเช่นเดียวกับโครงกระดูกมนุษย์ ทั้งยังถูกฝังในพื้นที่สุสานเดียวกับที่ฝังศพมนุษย์อีกด้วย
ปล.ม้าตัวนี้ทางทีมนักโบราณคดีเราตั้งชื่อเล่นๆให้ว่า “น้องไมค์” ใครสนใจไปรู้จักน้องไมค์ตัวเป็นๆ โครงกระดูกจริงๆ สามารถตามไปดูได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลเวียงท่ากาน บริเวณโบราณสถานกลางเวียงได้เลย
ข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่