เตือนภัย! เขียนปากกาเมจิกบนถุงโจ๊ก เกิดซึมเข้าข้างในเนื้อโจ๊กกลายเป็นสีชมพู

2025

เตือนภัย! เขียนปากกาเมจิกบนถุงโจ๊ก เกิดซึมเข้าข้างในเนื้อโจ๊กกลายเป็นสีชมพู

     ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อคุณ Wirintorn Diloktharadol ได้โพสต์เตือนภัยเกี่ยวกับการซื้ออาหารที่เอาปากกาเมจิกเขียนบนถุง โดยระบุว่า “ตั้งสติ ก่อนกินโจ๊กที่ซื้อกลับบ้าน เห็นสีชมพูในถุงมั้ย หมึกจากปากกาเมจิกค่ะ หมึกปากกา! ระวังไว้เสมอ ถ้าซื้อโจ๊กกลับบ้านแล้วที่ร้านใช้ปากกาเมจิกเขียนที่ถุง หมึกมันอาจจะซึมเข้าไปในโจ๊กได้ น่ากลัวมาก ดูให้ดีก่อนจะกินน้า ให้ภาพเล่าเรื่อง  เป็นอุทาหรณ์สำหรับร้านอาหารด้วยนะ อย่าเขียนอะไรไว้ที่บรรจุภัณฑ์เลยนะคะ
มันซึมลงไปในอาหารได้ ที่มาของคำว่า ปากกาหมึกซึม ที่แท้ทรู”

     ล่าสุด แฟนเพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว ได้โพสต์คลายข้อสงสัยเกียวกับกรณีดีงกล่าว โดยระบุว่าหลายๆคนก็คงจะสงสัยว่า เอ๊!! ทำไมหมึกที่อยู่อีกด้านจึงสามารถที่จะทะลุเข้าไปด้านในได้นะเออ!! ดังนั้นวันนี้แอดก็จะมาเล่าถึง #เกร็ดความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ ถึง #ปรากฏการณ์การเคลื่อนตัวของสีหมึกจากภายนอกถุงพลาสติกเข้าไปเปื้อนโจ๊ก ให้ฟังกันนะครับ

     จากที่แอดดูแล้ว แอดก็จะเดาว่าปากกาเมจิกที่ใช้เขียนถุงพลาสติกเหล่านี้น่าจะเป็นปากกาที่เรามักจะเรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านว่า “ปากกาเคมี” หรือ Permanent marker นะครับ ปกติแล้วสีย้อมที่นำมาใช้ทำเป็นหมึกปากกาเคมีเหล่านี้มักจะเป็น “สีประจุบวก” (cationic dyes) ที่มักจะเป็นสีในกลุ่มของ “ไตรเอริลมีเธน” (Triarylmethane dyes) และนิยมนำมาละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น Ethyl acetate, Acetone, Isopropyl alcohol หรืออาจจะเป็น Ethanol ก็ได้นะครับ

     เนื่องจากว่าสีเหล่านี้มีความเข้มสูง และเมื่อสีเหล่านี้เมื่ออยู่ในตัวทำละลายอินทรีย์ที่มีขั้วปานกลางเหล่านี้ก็จะทำให้มันมีแรงตึงผิวที่ต่ำพอ จนทำให้สามารถเกาะบนผิวพลาสติกที่ไม่มีขั้วอย่าง PP หรือ HDPE ที่นำมาทำเป็นถุงพลาสติกได้ดีนะครับ

     แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความแตกต่างที่มากเหลือเกินของ “ความมีขั้วจากประจุบวกของสีย้อม” กับ “ความไม่มีขั้วของพลาสติก” เหล่านี้จึงทำให้สีนั้นสามารถเกิดการ “เคลื่อนตัวหนีจากพลาสติกได้เสมอ” ถ้ามีพลังงานที่มากพอและมีสิ่งที่มีขั้วที่ใกล้เคียงกับสีย้อมตัวนั้นมาดักรออีกฝั่งด้วย!! (เนื่องจากความมีขั้วของสีและถุงพลาสติกนั้นต่างกันมาก แต่ที่มาอยู่ด้วยกันตอนแรก เพราะโดนบังคับมาจากการกดขี่หัวปากกาใส่ถุงพลาสติก!!)

     และเมื่อเรานำถุงพลาสติกที่ไม่มีขั้วเหล่านี้มาใส่อาหารร้อนๆ เช่น โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว นั้น พลังงานความร้อนนั้นก็สามารถที่จะทำตัวเป็น “พลังงานกระตุ้น” (Activation energy) ทำให้เกิดการเคลื่อนตัว และทำให้เกิด “การแพร่” (Diffusion) ของสีย้อมได้ดีขึ้น และในขณะเดียวกันนั้น พลังงานความร้อนนั้นก็จะทำให้โมเลกุลของพลาสติกเกิด “ปริมาตรอิสระ” (Free volume) มากพอที่จะทำให้สีนั้นเกิด “ความซน” ที่จะเคลื่อนตัวไปไหนต่อไหนได้อิสระมากขึ้นนะครับ

      Note : ปกติแล้วอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้นจะทำให้เกิดการแพร่ของสีย้อม และทำให้เกิดการเปิดโครงสร้างของพอลิเมอร์ทำให้เป็นปริมาตรอิสระได้ดีขึ้นตามสมการของอารีเนียส (Arhenius equation) ดังสมการ D = D₀ ยกกำลัง (-E / RT) อยู่แล้วนะครับ

     แน่นอนว่า ในถุงโจ๊กนั้นมีทั้งคาร์โบไฮเดรตจากแป้ง โปรตีนจากไข่และเนื้อหมูสับที่ละลายอยู่ในน้ำซุปร้อนๆนั้น ต่างก็เป็นโมเลกุลที่มีขั้ว (polar molecule) ที่มากกว่าถุงพลาสติกเป็นไหนๆนะครับ ดังนั้นเมื่อสีย้อมที่มีขั้วนั้นได้เจอกับโมเลกุลที่มีขั้วเหมือนๆกัน ตามทฤษฎี “Like dissolves like” หรือตามภาษาความรักก็เรียกว่า “เคมีตรงกัน” ก็จะทำให้สีย้อมนั้นรีบปรี่เข้าไปหาโมเลกุลที่มีขั้วของอาหารในถุงอย่างไม่คิดชีวิตกันเลยทีเดียว

     และแน่นอนว่าสีย้อมเหล่านี้ไม่ใช่ “สีผสมอาหาร” ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรนำปากกาเคมีเหล่านี้มาเขียนบนถุงพลาสติกที่ใส่อาหารโดยตรงนะครับ และถ้าผู้ซื้อเห็นว่าสีเลอะแล้วก็ควรจะ “ทิ้งไป” ซะนะครับ แต่ถ้าเผลอทานไปแล้วก็ไม่ต้องกังวลอะไรมาก เพราะความเข้มสีที่เห็นนั้นมีน้อยกว่าปริมาณอันตรายพอสมควร แต่ก็นะ!! ถ้าคราวหลังยังเห็นอีกก็ควรจะเลี่ยงการทานอาหารที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิกเหล่านี้นะครับ

ข้อมูล : Wirintorn Diloktharadolเคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว