ปศุสัตว์เชียงใหม่ เตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคอหิวาต์หมู แนะ 10 ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค

2901

สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ เตือนประชาชนเฝ้าระวังโรคอหิวาต์หมู แนะ 10 ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันโรค

     กรมปศุสัตว์แจ้งประสานมาว่า รัฐฉานของพม่า มีหมูตายเยอะ อาจทิ้งลงน้ำไหลมาทางแม่น้ำกกบริเวณอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ขอให้ทางจังหวัด กำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยทหารตำรวจ และปกครอง ช่วยสอดส่องดูแลเรื่องนี้ หากพบซากหมูลอยน้ำมารีบแจ้ง จนท.เพื่อเก็บฝังหรือเผาทำลายทันทีครับ..

     สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่แนะ 10 ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร สําหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรควรดําเนินการ ดังนี้

1. ใช้อาหารสัตว์จากแหล่งที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้
2. อาหารสําหรับพนักงานหรือคนเลี้ยงสุกรต้องใช้เนื้อจากแหล่งที่ไม่เสี่ยงมาทําอาหารในฟาร์ม
3. ต้องมีรั้วรอบฟาร์มและโปรแกรมการกําจัดสัตว์พาหะ
4. บุคคลที่จะเข้าฟาร์มต้องอาบน้ําเปลี่ยนชุดก่อนเข้าฟาร์ม
5. จัดให้มีตู้ UV เพื่อฆ่าเชื้ออุปกรณ์ก่อนนําเข้าฟาร์ม
6. ยานพาหนะทุกคันต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม
7. จัดให้มีเล้าขายหมูอยู่นอกบริเวณที่มีการเลี้ยงสุกร
8. มีเล้าก๊กหมูทดแทนอยู่นอกฟาร์มก่อนย้ายเข้าฝูง
9. น้ําสําหรับใช้ในฟาร์มให้ใช้น้ําบาดาลและมีระบบบําบัดน้ําด้วยคลอรีนก่อนนําไปใช้
10. มีบ่อทิ้งซากหรือระบบย่อยสลายซาก

       โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคระบาดในสุกรที่มีความรุนแรงและก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุกร โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีการกระจายอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งในทวีปแอฟริกา ยุโรปตะวันออก ประเทศในกลุ่ม Eurasia สหภาพโซเวียต และทวีปเอเชีย ซึ่งใน พ.ศ. 2464 มีการระบาดเกือบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ต่อมาพบการระบาดในทวีปยุโรป และแพร่กระจายไปยังประเทศในทวีปอเมริกากลางและใต้ และปีที่ผ่านมามีการระบาดเข้ามาในทวีปเอเชีย ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หลังการเฝ้าระวังติดตามพบว่ามีการระบาดในอีก 5 ประเทศ คือ มองโกเลีย เกาหลีเหนือ ฮ่องกง เวียดนาม และกัมพูชา ส่วนประเทศไทยยังไม่พบการระบาด แต่ขณะนี้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในสุกรได้เข้ามาถึงประเทศเมียนมาตอนบน ซึ่งมีพื้นที่ติดกับประเทศไทยแล้ว

Z6Ix0N.png
จังหวัดเชียงใหม่จึงได้กำหนดแผนงาน/มาตรการ ควบคุมป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังในการเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ ซ้อมแผนเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระดับจังหวัด รูปแบบเฉพาะหน้าที่ พร้อมทั้งเสนอให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคระบาด อีกทั้งให้เข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์จากจุดเสี่ยงสูง จากจังหวัดเชียงรายเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ในพื้นที่รอยต่อระหว่างเชียงราย-เชียงใหม่ จุดตรวจกิ่วสไตล์ ถนนฝาง-แม่จัน เขตรอยต่อพื้นที่ถนนในหมู่บ้านระหว่างอำเภอพร้าวกับอำเภอเวียงป่าเป้า จุดตรวจบนถนนฝาง-แม่สรวย และจุดตรวจโป่งดิน (ทางเข้าเทพเสด็จ) อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และการเฝ้าระวังเชิงรุก โดยทำการออกเก็บตัวอย่างในโรงฆ่าและจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ (เขียง) ในจังหวัดเชียงใหม่ 50 แห่งต่อสัปดาห์ เข้มงวดในการตรวจสัตว์ก่อนการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกครั้ง รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ออกวิเคราะห์ความเสี่ยงรายฟาร์มในพื้นที่ทุกฟาร์ม

     ทั้งนี้ ขอให้ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หรือโรงฆ่าสัตว์ เฝ้าระวัง การเลี้ยงในฟาร์มหากพบสุกรตายแบบเฉียบพลันมากกว่า ร้อยละ 5 ภายใน 2 วัน หรือรายย่อยที่เลี้ยงน้อยกว่า 50 ตัว มีการตาย 2 ตัวขึ้นไปภายใน 1 วัน หรือสุกรมีไข้สูง นอนสุมกัน ขาหลังไม่มีแรง ผิวหนังแดง จุดเลือดออก มีรอยช้ำที่ผิวหนัง บริเวณใบหู ท้อง ขาหนีบ หรือผิวหนัง ไอ แท้ง ท้องเสียเป็นเลือด ขอให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 0864314264 หรือสายด่วนแจ้งโรค 0632256888 เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป