งานพิธีฟ้อนบวงสรวงบรรพกษัตริย์อารักษ์หลวงนครเชียงใหม่ จัดขึ้นโดย สาขาวิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลฟ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มหน่อศิลป์ ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรมเชียงใหม่ และมหาชนชาวเชียงใหม่
การฟ้อนผี เป็นการเชิญวิญญาณของบรรพชน ให้มารับรู้และร่วมกิจกรรมกับลูกหลาน โดยมีขั้นตอนของพิธีการต่างๆ ระบุไว้ตามประเพณียาวตลอดวัน การฟ้อนนอกจากจะเป็นการรำลึกถึงพระคุณของบรรพชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความสามัคคีกลมเกลียวกันขึ้นในกลุ่มคนที่นับถือผีในสายเดียวกัน ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงข้อปฏิบัติและจารีตประเพณีที่วางไว้โดยเคร่งครัด
ผีมด เป็นผีบรรพชนสายตระกูลของชาวบ้านและสามัญชนทั่วไป มีการสร้างผามเปียงหรือปะรำกันแดดที่แบนราบสำหรับฟ้อน แต่เดิมมีเพียงตั้งฟ้อนหรือมีจำนวนตามจารีตของแต่ละตระกูล ปัจจุุบันนิยมตั้งขันไหว้บรรพบุรุษจำนวน 12 ขัน พร้อมทั้งขันไหว้เจนบ้านเจนเมืองอีก 1 ขัน เครื่องเซ่นและขั้นตอนลำดับการฟ้อน บ่งบอกถึงวิถีชีวิตและการทำมาหากินของชาวบ้านในอดีตได้เป็นอย่างดี เช่น การไปยิงเสือ ปลูกฝ้าย ทอดแห และคล้องช้างคล้องม้า เป็นต้น การแต่งกายของผีมดที่มาลงทรง จะนุ่งผ้าโสร่งลายตาราง เคียนหัวหรือโพกศรีษะด้วยผ่าสีพื้น ซึ่งนิยมใช้ผ้าสีแดง มีผ้าคล้องคอ และผ้าคาดเอวด้วย ใช้ดอกไม้สดทัดหูหรือเหน็บผ้าโพกศรีษะ