จังหวัดเชียงใหม่จัดทำแผนเผชิญเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2563 เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เน้นย้ำมาตรการเชิงรุก
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2562 ที่ ห้องศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดเชียงใหม่ (POC) อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันระดมความคิดเห็นในการพิจารณาแผนการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าให้ครอบคลุมและสามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การดำเนินการสอดคล้องตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี และแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ตามมติคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดทำแผนเผชิญเหตุให้ครอบคลุม ภายใต้คำขวัญ “ชาวเชียงใหม่ ตื่นตัว สานพลัง ร่วมต้านหมอกควันไฟป่า” โดยกำหนดเป็น 3 ระยะ ทั้งช่วงก่อนเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกลไกพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ในการอำนวยการ สั่งการ ควบคุมและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ร่วมกับการใช้กฎหมาย และแผนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีการกำหนดรายละเอียดการแบ่งพื้นที่ ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ตลอดจนการจัดชุดปฏิบัติการที่สามารถเข้าไปยังจุดที่มีการเผา หรือก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างครอบคลุมในทุกพื้นที่

โดยทางจังหวัดฯ ได้กำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่เป็นมาตรการเชิงรุก ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ประกอบด้วย “4 มาตรการเชิงพื้นที่ 5 มาตรการ บริหารจัดการ” ในส่วน 4 มาตรการเชิงพื้นที่ เน้นพื้นที่ป่าไม้ (ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์) โดยจัดทำแนวป้องกันไฟ จัดกำลังลาดตระเวน การประกาศพื้นที่ห้ามเผา พร้อมทั้งบูรณาการประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหารและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งจัดทำบัญชีผู้มีพฤติกรรมการเข้าป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ ด้านพื้นที่การเกษตร ดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร การห้ามเผาเด็ดขาด และการรณรงค์ให้มีการใช้สารย่อยสลายหรือไถกลบตอซังข้าว ข้าวโพด ซากวัชพืชฤดูแล้ง และการแปรวัสดุการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า ในส่วนของพื้นที่ชุมชน/เมือง ใช้กลไกประชารัฐในการเฝ้าระวังป้องกันการเผาในพื้นที่ชุมชน/เมือง เพื่อให้ทราบมาตรการและแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาของจังหวัด และพื้นที่ริมทาง ให้จัดกำลังอาสาสมัครภาคประชาชนทำการลาดตระเวน เฝ้าระวัง กำจัดเศษวัสดุ ขยะ ใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงในพื้นที่ริมทาง เพื่อไม่ให้มีเชื้อไฟและใช้เป็นแนวกันไฟ
สำหรับ 5 มาตรการบริหารจัดการ ได้แก่ มาตรการระบบบัญชาการเหตุการณ์ เพื่อให้การควบคุมแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีเอกภาพ มาตรการสร้างความตระหนัก โดยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้กับประชาชนให้ทราบถึงมาตรการการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ มาตรการลดปริมาณเชื้อเพลิง ให้จัดทำแนวกันไฟ การควบคุมการเผา การบริหารจัดการเชื้อเพลิง รวมทั้งส่งเสริมการใช้สารหมักชีวภาพเพื่อย่อยสลายซอตัง และการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำอาหารสัตว์ ด้านมาตรการการบังคับใช้กฎหมาย ให้กำชับเจ้าพนักงานตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และมาตรการทีมประชารัฐ โดยบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งภาคราชการ หน่วยทหาร ภาคประชาชน ภาคเอกชน อาสาสมัคร มูลนิธิ ให้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนและกำหนดแนวทางมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เร่งดำเนินการกำหนดมาตรการและแนวทางในการจัดการให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อสุขภาพอนามัยของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เมืองที่อยู่ร่วมกันแออัด ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและประชาชนกลุ่มเปราะบาง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองน่าอยู่อาศัยและน่าท่องเที่ยว ทำให้ผู้คนทั้งภายในและภายนอกประเทศเกิดความมั่นใจและเดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้น
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
