สำนักงานชลประทานที่ 1 ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ลาว ไม่ส่งผลกระทบต่อเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางสำคัญในพื้นที่
นายศุภมิตร กฤษณมิตร วิศกรชลประทานชำนาญการ หัวหน้าฝ่ายปลอดภัยเขื่อน สำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผนดินไหวขนาด 5.9 ริกเตอร์ ความลึก 5 กิโลเมตร เมื่อเวลาประมาณ 04.03 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 โดยมีจุดศูนย์กลางที่บริเวณชายแดนสาธารณรัฐประชาชนลาวใกล้กับจังหวัดน่านของประเทศไทย ต่อมาในเวลา 06.52 น. เกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งขนาด 6.4 ริกเตอร์ ความลึก 3 กิโลเมตร จากจุดศูนย์กลางเดิม ที่สามารถรับรู้ความสั่นไหวในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานเป็นวงกว้าง ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 1 โดยฝ่ายความปลอดภัยเขื่อน ได้ทำการสำรวจผลกระทบต่อเขื่อนขนาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางสำคัญ จำนวน 6 แห่ง โดยมีการติดตั้งเครื่องมือวัดผลกระทบจากแผ่นดินไหวใน 5 แห่ง อยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 แห่ง คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล อำเภอแม่แตง อ่างเก็บน้ำแม่ทะลบหลวง อำเภอไชยปราการ อ่างเก็บน้ำห้วยแก้ว ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และอ่างเก็บน้ำโป่งอ่อน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน และการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญอีก 1 แห่ง คือ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง และอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง มีสภาพทางกายภาพที่มั่นคง แข็งแรง และมีความปลอดภัย สามารถใช้งานได้ตามปกติ
ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 มีแผนที่จะติดตั้งเครื่องมือวัดผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่เขื่อนแม่กวงอุดมธาราเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 นี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจในความปลอดภัยของเขื่อนขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางดังกล่าว นอกจากนี้การเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งแต่ไม่รุนแรงกลับส่งผลดีต่อพื้นที่ เนื่องจากเกิดการปลดปล่อยพลังงานออกมาเรื่อยๆ ไม่สะสม ซึ่งหากเป็นการปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างรุนแรงในครั้งเดียว อาจก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานชลประทานที่ 1 โทรศัพท์ 053242822 ในวันและเวลาราชการ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่