ชวนชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 13 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 14 ธ.ค. 62 คืนดังกล่าวมีแสงดวงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน สังเกตเห็นได้ยาก

3485

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เผยเกิด “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 13 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2562 คืนดังกล่าวมีแสงดวงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน สังเกตเห็นได้ยาก

     นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม 2562 นี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 140 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ในปีนี้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากเป็นคืนดวงจันทร์แรม 2 ค่ำ ดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าตั้งแต่เวลา 18:58 น. และตกลับขอบฟ้าในเวลา 07:18 น. ของวันถัดไป ทำให้มีแสงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน จึงอาจสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ยากมาก “สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ต้องรอติดตามในปี 2563 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดถึง 150 ดวงต่อชั่วโมง ในคืนวันที่ 13 ธันวาคม จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 14 ธันวาคม 2563 คืนดังกล่าวตรงกับช่วงจันทร์ดับ ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน จึงเป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน” นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย

ibfjOy.jpg

     ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น