กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงสุขภาพประชาชนช่วงค่าฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง แนะติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในแต่ละวัน ประเมินตนเองก่อนออกจากบ้าน และดูแลสุขภาพคนในครอบครัว พร้อมเผยผลอนามัยโพลพบคนไทยใส่ใจสวมหน้ากากอนามัย เข้าใจค่าสี และงดเผาขยะในช่วงที่เกิดฝุ่น
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์รายวันพบปริมาณ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 สูงเกินมาตรฐานในระดับสีแดงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม พุ่งสูงถึง 99 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขณะที่อีก 37 สถานี ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) และคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 13 – 14 ธันวาคมนี้ ฝุ่นละอองในภาพรวมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากลมอ่อนในหลายพื้นที่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ดร.สาธิต ปิตุเตชะ) ได้ส่งผ่าน ความห่วงใยไปยังประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยให้ปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขและต้องติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ด้วยการดูค่า PM2.5 หรือค่า AQI ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอพพลิเคชั่น “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ แต่ต้องแปลผลให้ถูกต้อง หากค่า PM2.5 อยู่ในช่วง 51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเท่ากับค่า AQI 101 – 200 อยู่ในระดับเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ต้องสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงฝุ่น PM2.5 จากเฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM2.5 ” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐานและมีผลกระทบต่อสุขภาพควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า อีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญคือการประเมินตนเองว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ อาทิ มีอาชีพอยู่กลางแจ้งต้องสัมผัสฝุ่นเป็นเวลานานหรืออาศัยในพื้นที่เสี่ยง เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด หากพบว่าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท งดกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนักกลางแจ้ง หลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากาก N95 แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธีและที่สำคัญห้ามสวมใส่หน้ากากทุกชนิดขณะที่ออกกำลังกายอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ร่างกายต้องหายใจแรง เร็วขึ้น ส่งผลให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักมากขึ้น และอาจเป็นอันตรายได้ อีกทั้งคอยสังเกตอาการตนเองและคนใกล้ชิด หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจ มีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
“ทั้งนี้ จากผลการสำรวจอนามัยโพลเกี่ยวกับการเตรียมดูแลสุขภาพเพื่อรับมือ PM2.5 กลุ่มประชาชน 536 คน พบว่า ประชาชนได้มีการเตรียมตัวดูแลสุขภาพเพื่อรับมือ PM2.5 มากที่สุดคือ เตรียมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 78 รองลงมาคือทำความเข้าใจระดับค่าสีของ PM2.5 และคำแนะนำในการปฏิบัติตนแต่ละระดับ ร้อยละ 63 งดเผาขยะในช่วงที่เกิดฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 51 เตรียมบ้านโดยการทำความสะอาดบ้าน ล้างแอร์ ล้างพัดลม ร้อยละ 45 ปลูกต้นไม้เพื่อดักฝุ่น ร้อยละ 36 และติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ เครื่องกรองอากาศ ร้อยละ 33 นอกจากนี้ยังสามารถ มีส่วนร่วมลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ด้วยการงดจุดธูป หมั่นตรวจเช็คสภาพรถยนต์ ลดการใช้รถยนต์ ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ และใช้รถสาธารณะมากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด