(มีคลิป Video) เผยผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่สายสีแดง
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง ได้ประกาศผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้
สรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)
งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) เมื่อวันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เข้ามามีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เสนอประเด็นห่วงกังวล และได้แสดงความคิดเห็นอย่างครอบคลุมทั่วถึง ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาโครงการเป็นไปด้วย ความรอบคอบ โปร่งใส และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน โดยได้พิจารณาให้สอดคล้องตามประกาศสํานักงาน นโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2562 และเป็นไปตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์ และมีจุดสิ้นสุด ที่บริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี และมีสถานีจํานวน 16 สถานี ซึ่งมีระยะทางประมาณ 15.8 กิโลเมตร ในการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีขอบเขตพื้นที่ศึกษาอยู่ในระยะ ประมาณ 500 เมตร จากกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตําบล 2 อําเภอ ได้แก่ ตําบลดอนแก้ว อําเภอแม่ริม ตําบลช้างเผือก ตําบลศรีภูมิ ตําบลพระสิงห์ ตําบลหายยา ตําบลสุเทพ ตําบลป่าแดด และตําบลแม่เหียะ อําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
สรุปประเด็น ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (สรูปผลการศึกษาของโครงการ)
ด้านวิศวกรรม
1. ต้องการทราบตําแหน่งที่ตั้งและขนาดของสถานีแยกหายยา รวมถึงความชัดเจนเรื่องการเวนคืน
2. แนวเส้นทางช่วงถนนเชียงใหม่-หางดง ควรอยู่ใต้ดิน เนื่องจากหากอยู่ระดับดินจะทําให้มีจุดตัดส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้น
3. ต้องการทราบแนวเส้นทางช่วงสนามบินเชียงใหม่ถึงถนนเชียงใหม่-หางดง
4. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง จะมีการเวนคืนเมื่อใด
5. การออกแบบโครงการฯ ควรพิจารณาถึงการอํานวยความสะดวกของผู้สูงอายุและผู้พิการด้วย
6. รูปแบบรถไฟฟ้าที่จะนํามาใช้ในโครงการฯ เป็นล้อเหล็กหรือล้อยาง ควรพิจารณาถึงผลกระทบต่อประชาชนด้วย
7. แหล่งจ่ายไฟฟ้าของขบวนรถไฟฟ้าควรอยู่ใต้ดิน เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพและสอดคล้องกับการดําเนินงานในปัจจุบันของจังหวัดเชียงใหม่ที่นําสายไฟฟ้าลงใต้ดิน
8. ควรควบคุมความเร็วของรถไฟฟ้าให้เร็วกว่ารถจักรยานยนต์และรถยนต์ รวมทั้งกําหนดค่าโดยสารในอัตราที่ไม่แพงเกินไป เพื่อดึงดูดให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งมวลชน
9. เวลาและค่าใช้จ่ายคือปัจจัยสําคัญที่ทําให้ผู้ใช้รถยนต์เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งมวลชน ดังนั้นควรสร้างทางเฉพาะสําหรับรถรางไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เกิดจุดตัดกับถนน ซึ่งจะทําให้เกิดความล่าช้าและอาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
10. การกําหนดตําแหน่งที่ตั้งสถานี ควรพิจารณาถึงความรวดเร็วในการเดินทาง ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และอยู่ใกล้กับสถานที่สําคัญ โดยให้มีระยะการเดินที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งมวลชน
11. ต้องการทราบรูปแบบการเชื่อมต่อระหว่างโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง สายสีเขียว และสายสีน้ําเงินเนื่องจากมีผลต่อการเลือกใช้บริการ
12. ตําแหน่งสถานีอยู่บริเวณส่วนใดของถนน
13. เชียงใหม่เป็นเมืองขนาดใหญ่ เพราะเหตุใดจึงสร้างรถรางไฟฟ้าซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดเล็ก
14. ในการออกแบบโครงการฯ ควรพิจารณาปัญหาเรื่องพื้นที่จอดรถบริเวณหน้าโรงพยาบาลนครพิงค์ประกอบด้วย 15. ต้องการทราบตําแหน่งจุดจอดแล้วจรบริเวณโรงพยาบาลนครพิงค์
16. แนวเส้นทางช่วงถนนเชียงใหม่-หางดง ถึงแยกแม่เหียะสมานสามัคคี ควรเพิ่มสถานีรถไฟฟ้าอีก 1 สถานี เนื่องจากแนวเส้นทางดังกล่าวมีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร แต่มีเพียง 2 สถานี ทั้งนี้ยินดีให้ใช้พื้นที่กาดวรุณเป็นที่ตั้งสถานี
17. ควรหารือกับกรมทางหลวง เรื่องการขยายถนนริมคลองชลประทานก่อนก่อสร้างโครงการฯ เพื่อรองรับปริมาณจราจรช่วงก่อสร้างโครงการฯ
18. ควรประสานกับกรมทางหลวง เรื่องโครงการในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงที่อยู่บริเวณแนวเส้นทางโครงการฯ เช่น การก่อสร้างสะพานลอยแม่เหียะ เป็นต้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการดําเนินงานโครงการฯ
19. ควรทบทวนการออกแบบแนวเส้นทางบริเวณทางหลวงหมายเลข 108 เนื่องจากมีเขตทางกว้างเพียง 15 เมตร
ด้านสิ่งแวดล้อม
1.ในระยะก่อสร้าง ผู้รับเหมาอาจละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลให้ประชาชน ได้รับผลกระทบจากการดําเนินโครงการฯ จึงเสนอให้แต่งตั้งคณะทํางานในพื้นที่เพื่อควบคุมกํากับให้ผู้รับเหมาปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
2. ควรประเมินผลกระทบจากการดําเนินโครงการฯ ต่อสนามบินเชียงใหม่ โรงพยาบาลสวนดอก รวมทั้งผลกระทบต่อผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ด้วย
ด้านการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน
1.ควรรายงานความคืบหน้าด้านวิศวกรรม การบริหารโครงการ งบประมาณ และรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงจํานวนสถานีจาก 12 สถานีเป็น 16 สถานี
2. ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกําหนดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ จึงควรเผยแพร่ข้อมูลรายละเอียดการดําเนินโครงการฯ ลงเว็บไซต์ เพื่อประชาชนจะได้ทราบความคืบหน้า
3. ควรจัดประชุมเพิ่มเติม เพื่อชี้แจงรายละเอียดทางวิศวกรรมให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ
4. ควรแต่งตั้งตัวแทนในพื้นที่เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและควบคุมกํากับผู้รับเหมาในการดําเนินโครงการฯ ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
5. ควรหารือกับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ในประเด็นเรื่องแนวเส้นทางและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการดําเนินโครงการฯ
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ
1.ต้องการทราบงบประมาณในการดําเนินโครงการ
2. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่สายสีเขียวและสายสีน้ําเงินจะเริ่มศึกษาและก่อสร้างเมื่อไร
3. ต้องการทราบแผนการดําเนินงานของโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง สายสีเขียว และสายสีน้ําเงิน ที่ชัดเจน เพื่อเอกชนจะได้เตรียมแผนการลงทุนไว้ และในกรณีที่ไม่มีผู้ร่วมลงทุน รฟม. มีแผนสํารองไว้อย่างไร
4. ควรทบทวนการตั้งชื่อสถานี และเพิ่มชื่อภาษาอังกฤษและชื่อย่อของสถานี
– ควรเปลี่ยนชื่อสถานีโพธารามและสถานีหนองฮ่อ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับที่ตั้งและประชาชนไม่คุ้นเคย
– ควรเปลี่ยนชื่อ “สถานีโพธาราม” เป็น “สถานีวัดเจ็ดยอด” และควรเพิ่มชื่อสถานีภาษาจีน เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจีนจํานวนมาก
– ควรเปลี่ยนชื่อ “สถานีบ้างใหม่สามัคคี” เป็น “สถานีศูนย์เวชศาสตร์” เนื่องจากสถานีอยู่ใกล้กับศูนย์เวชศาสตร์
– ทบทวนการตั้งชื่อสถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่และสถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
5. โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีน้ําเงินและสายสีเขียวควรเป็นระบบโมโนเรล เนื่องจากใช้เวลาก่อสร้างเร็วกว่า
6. ควรออกกฎหมายเพื่อนําภาษีล้อเลื่อนที่บางส่วนเป็นงบประมาณท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาระบบราง เพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป และควรหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ บริเวณแนวเส้นทางในการพัฒนาพื้นที่จอดแล้วจร