กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในการงดใช้ถุงพลาสติกในตลาดสดและร้านขายของชำในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อนำไปพิจารณาจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติก
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ที่โรงแรมเชียงใหม่ ออร์คิด จังหวัดเชียงใหม่ นายปะลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นประธานพิธีเปิดและมอบนโยบายการบริหารจัดการขยะพลาสติก ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการงดใช้ถุงพลาสติกในตลาดสดและร้านขายของชำ และแนวทางการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติก ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคเหนือ โดยมี นายวีรพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด ร้านขายของชำ และประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือร่วมประชุม
การประชุมในครั้งนี้เป็นการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในกระบวนการจัดทำกฎหมายจัดการขยะพลาสติก ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ใน 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายแรก การลด และเลิกใช้พลาสติกเป้าหมาย ด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะดำเนินการกับประเภทและชนิดของพลาสติกที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบางหรือถุงก๊อบแก๊บ เป็นหนึ่งในชนิดของพลาสติกที่ต้องเลิกใช้ภายในปี 2565 เป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570
นายปะลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผลมาตรการงดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่าห้างสรรพสินค้างดให้ถุงพลาสติกหูหิ้วตามนโยบายรัฐ ร้อยละ 97 แต่ยังมีการให้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ร้อยละ 3 โดยมีการนำถุงอื่นๆ เช่น ถุงผ้า หรือถุงกระดาษ มาวางจำหน่ายให้กับลูกค้าทดแทน และเพื่อเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัดการพลาสติกให้เกิดผลอย่างเป็นระบบครบวงจร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จึงได้ขอความร่วมมือกับจังหวัดต่างๆ ในการขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดบาง หรือถุงก๊อบแก๊บในตลาดสดและร้านขายของชำที่อยู่ในพื้นที่ โดยให้มีตลาดสดต้นแบบที่งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
สำหรับการจะลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยการใช้ซ้ำ เลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองที่น่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป