วันวาเลนไทน์เชียงใหม่ จัดงานสมรส “นางสาวลำไยกับนายผึ้ง” ส่งเสริมเพิ่มผลผลิตลำไย
วันวาเลนไทน์กรมส่งเสริมการเกษตร จัดงานสมรสนางสาวลำไยกับนายผึ้ง เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลำไย ด้วยผึ้ง ช่วงที่ลำไยกำลังจะออกดอก ด้านอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเปิดเผยว่า การเลี้ยงผึ้งมาช่วยผสมเกสร ทำให้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 78.76 นอกจากนี้ผึ้งยังมีส่วนช่วยในการควบคุมการใช้สารเคมีภายในสวนลำไย ส่งผลให้ได้ผลผลิตลำไยที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรอีกด้วย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานพิธีเปิดงานโครงการประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการผสมเกสร เพิ่มผลผลิตลำไยด้วยผึ้ง ที่บริเวณแปลงส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ลำไย ตำบลแม่ก๊า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการส่งเสริม การผลิตลำไยให้ได้คุณภาพดี นอกจากนี้ยังเป็นการประชาสัมพันธ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้การใช้ผึ้งเพื่อช่วยผสมเกสร เพิ่มผลผลิตลำไยทั้งปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งกับเกษตรกรชาวสวนลำไยตระหนักถึงการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคต่อไป
ซึ่งนอกจากใช้พันธุ์ที่ดีและการดูแลรักษาที่ดีแล้ว การผสมเกสรในช่วงการบานของดอกลำไยก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เนื่องจากลำไยมีการผสมตัวเองและการผสมข้ามตามธรรมชาตินั้นยังไม่เพียงพอ ผลผลิตไม่ได้คุณภาพรูปทรงบิดเบี้ยว ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด และ ประกอบกับการทำการเกษตรที่เน้นการใช้สารเคมี เพื่อเพิ่มผลผลิตและป้องกันกำจัดศัตรูพืช ส่งผลให้จำนวนประชากรผึ้งลดลงไม่เพียงพอต่อการผสมเกสรในธรรมชาติ จึงต้องอาศัยการเลี้ยงผึ้งมาช่วยผสมเกสร โดยในงานมีเกษตรกรที่สนใจ รวมทั้งสิ้น 200 คน มีกิจกรรมการเสวนาเรื่องการผลิตลำไยคุณภาพและการใช้ผึ้งช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตลำไย อีกทั้งมีการสาธิตแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์แปลงใหญ่ผึ้งแปลงใหญ่ลำไย
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าหากมีผึ้งช่วยผสมเกสร ทำให้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 78.76 นอกจากนี้ผึ้งยังมีส่วนช่วยในการควบคุมการใช้สารเคมีภายในสวนลำไย ส่งผลให้ได้ผลผลิตลำไยที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ดำเนินการจัดงานโครงการประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีการผสมเกสรเพิ่มผลผลิตลำไยด้วยผึ้งในวันที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งถือว่าเป็นวันแห่งความรัก จึงถือโอกาสจัดงานสมรสนางสาวลำไยกับนายผึ้ง เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยี เพิ่มผลผลิตลำไย ด้วยผึ้ง ช่วงที่ลำไยกำลังจะออกดอก
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง สถานการณ์การผลิตลำไยในฤดู ปี 2563 ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ เปรียบเทียบกับปี 2562 พบว่า เนื้อที่ยืนต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.72 จากเดิม 614,309 ไร่ เป็น 649,447 ไร่ จากการปลูกใหม่แทนลิ้นจี่ ส้ม นาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปลูกในพื้นที่ว่าง เนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.26 (จากเดิม 593,528 ไร่ เป็น 636,623 ไร่) เนื่องจากลำไยที่ปลูกเพิ่มในพื้นที่ว่างและปลูกแทนไม้ผลอื่นตั้งแต่ปี 2558 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.84 (จากเดิม 558 กก./ไร่ เป็น 691 กก./ไร่) และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.75 (จากเดิม 331,335 ตัน เป็น 439,850 ตัน) อย่างไรก็ตามคาดการณ์`ในปีนี้ลำไยจะให้ผลผลิตช้าลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนร้อนสลับหนาว และไม่มีช่วงหนาวต่อเนื่องยาวนาน คาดการณ์ว่าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จะเป็นระยะดอกบานเต็มที่สามารถประมาณการผลผลิตได้ชัดเจนขึ้น
ด้านการตลาด พบว่า ปี 2560 – 2562 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกลำไยสดมีแนวโน้มสูงขึ้น ปริมาณการส่งออกลำไยสดเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 400,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 8,800 ล้านบาท ราคาส่งออกลำไยสดเฉลี่ยตันละ 22,000 บาท โดยตลาดหลักยังคงเป็นจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์