สธ.เผย พบผู้ติดเชื้อโคโรนาเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอาชีพดูแลนักท่องเที่ยว มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อรายที่ 37

3524

กระทรวงสาธารณสุขเผยมีผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้เพิ่ม 1 ราย และได้รับการยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอาชีพ ดูแลนักท่องเที่ยว 

     นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และคณะแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า วันนี้มีผู้ป่วยยืนยันกลับบ้านเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 43 ปีจากโรงพยาบาลราชวิถี (กลับจากญี่ปุ่น) และได้รับการยืนยันพบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี อาชีพดูแลนักท่องเที่ยว เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วยยืนยันรายที่ 37 (ชายไทย พนักงานขับรถให้นักท่องเที่ยว) ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 รายรวมสะสม 43 ราย

     ทั้งนี้เพื่อให้การเฝ้าระวังคัดกรองการติดเชื้อในชุมชนมีความครอบคลุมมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้ปรับนิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสอบสวนโรค โดยขยายเกณฑ์การเฝ้าระวังในการป่วยเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ของผู้มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจำนวน 5 คนขึ้นไป โดยพบผู้ป่วยในสถานที่แห่งเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน เป็นการยกระดับความไวในการตรวจจับการติดเชื้อในชุมชน ในส่วนการเฝ้าระวังในสถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น, หาสาเหตุไม่ได้, มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตโดยหาสาเหตุไม่ได้ จะทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

     คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อโรคติดต่อ 2558 จำนวน 8 ท่าน เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2562 โดยมีหน้าที่และอำนาจให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการประกาศพื้นที่เขตติดโรค และให้คำแนะนำแก่อธิบดีกรมควบคุมโรค ในการประกาศโรคระบาด ให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรืออธิบดีกรมควบคุมโรค ในการประกาศยกเลิก เมื่อสภาวการณ์ของโรคสงบลงหรือมีเหตุอันควร และปฏิบัติการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

      นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ ซักซ้อมแผนรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 เตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจแนวทางการดำเนินงานระดับพื้นที่ ให้ทุกจังหวัดปรับใช้ขั้นตอนการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม เพิ่มทักษะบุคลากรในระบบบัญชาการเหตุการณ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติการ ดังนี้ 1.ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อ ทั้งในและช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัด 2.ปฏิบัติตามแนวทางการวินิจฉัย การดูแลรักษา และป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่กรมการแพทย์และคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญกำหนดอย่างเคร่งครัด รวมทั้งประสานการปฏิบัติหน่วยบริการสาธารณสุขทุกหน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้เกิดการบูรณาการด้านการรักษา เพื่อประสิทธิภาพการรักษาสูงสุด

xp3jT1.jpg