รัฐบาลเตรียมประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 26 มี.ค. นี้ ยกระดับศูนย์ ‘โควิด -19’ เป็นศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

5090

นายกรัฐมนตรี เผยรัฐบาลเตรียมประกาศ พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับศูนย์โควิด -19 เป็นศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศอฉ.โควิด-19)

     วันที่ 24 มีนาคม 2563 เวลา 14.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงรัฐบาลเตรียมประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มะรืนนี้ (26 มี.ค. 63)  ซึ่งวันนี้ได้หารือมาตรการจำเป็นอื่นๆ แล้ว สิ่งสำคัญ คือ การจัดระเบียบการทำงาน ยกระดับการทำงานของศูนย์โควิด -19 เป็นศูนย์บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือเรียกว่า ศอฉ.โควิด-19  มีคณะทำงานสอดประสานกัน มีปลัดกระทรวงแต่ละภารกิจเป็นหัวหน้าส่วนงานรับผิดชอบ  ติดตามประกาศมาตรการที่ได้ออกไปแล้วเดิม เพื่อนำข้อมูลปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งเสนอมาตรการเพิ่มเติมเข้ามาที่ ศอฉ. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้พิจารณา เพราะอำนาจทั้งหมดจะมาอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการบูรณาการอย่างแท้จริงในการทำงานดังกล่าว

โดยทุกเช้า เวลาประมาณ 09.30 น. จะมีการประชุมร่วมกันเพื่อให้หัวหน้าส่วนราชการรายงานข้อมูลหากมีข้อกำหนดเพิ่มเติมก็จะประกาศให้ทราบ ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปแล้ว สิ่งสำคัญ คือ การจัดตั้งคณะทำงาน ผู้รับผิดชอบภายในศูนย์ว่าจะทำงานกันอย่างไร ส่วนข้อกำหนดต่าง ๆ นั้นสามารถออกได้ตลอดเวลา การประกาศระยะที่ 1 ในวันมะรืนนี้  คือ จะทำอย่างไรที่จะลดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ต่าง ๆ อาจเป็นการขอความร่วมมือ ส่วนการจะปิด/เปิดนั้น จะเป็นการดำเนินการในระยะต่อไป ซึ่งอาจจะเข้มข้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการต่าง ๆ ไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนแต่เป็นสถานการณ์ที่มีความจำเป็นต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม

นายกรัฐมนตรียืนยันรัฐบาลมุ่งมั่นเต็มที่ในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ได้มากที่สุด ขอให้ประชาชนร่วมมือตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ออกไปแล้วด้วย  โดยเฉพาะขอความร่วมมืออย่าเพิ่งเดินทางกลับภูมิลำเนาขณะนี้  หากต้องเดินทางกลับ ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการการตรวจสอบคัดกรองที่กำหนดไว้ เช่นเดียวกับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ   กักตัวอยู่ที่บ้านและในพื้นที่ที่กำหนด  และในสถานการณ์ที่มีการตรวจพบการแพร่ระบาดผู้ติดเชื้อมากขึ้น จำเป็นต้องหามาตรการอื่น ๆ มารองรับ  ทั้งการเตรียมโรงพยาบาลต่าง ๆ โรงพยาบาลสนาม พื้นที่กักตัวขนาดใหญ่ รวมถึงจัดหาเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ  ซึ่งจะนำไปพิจารณาหารือในที่ประชุม ศอฉ.โควิด-19 ทั้งนี้ ประชาชนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ขอให้รับฟังข้อมูลจากรัฐบาลซึ่ง จะมีการให้ข้อมูลในแต่ละวันผ่านสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมเปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถสอบถามได้ตรงระหว่างการเผยแพร่ข้อมูลด้วย นอกจากนี้จะมีการเผยแพร่การสรุปข้อมูลที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและส่วนประชาสัมพันธ์ของศูนย์ ศอฉ.โควิด-19 ประชาสัมพันธ์ในแต่ละวันให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเตือนว่า หลังจากที่ได้ประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปแล้ว ขอให้ทุกคนระมัดระวังในการใช้สื่อโซเชียล และการให้ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน ซึ่ง พ.ร.ก. ฯ นี้ จะแต่งตั้งเจ้าพนักงานทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในการจัดตั้งด่านตรวจ จุดสกัด เตรียมความพร้อมต่าง ๆ ในการทำงาน และจะมีการปรับมาตรการต่าง ๆ ให้เข้มงวดขึ้นหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้  โดยทุกอย่างขอให้เป็นไปตามขั้นตอน