กระทรวงแรงงาน เดินหน้าช่วยเหลือดูแลผู้ประกันตนทุกรูปแบบอย่างเต็มที่
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลฯ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดภาวะพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จนกระทั่งยกระดับสถานการณ์เป็นภาวะวิกฤต ตนได้สั่งการทุกหน่วยงานในกระทรวงแรงงาน ให้วางมาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ซึ่งในส่วนของสำนักงานประกันสังคมมาตรการที่ออกมา และผ่านคณะรัฐมนตรีไปแล้วคือ
1. การลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง และลูกจ้างมาตรา 33, 39
– ผู้ประกันตนได้รับประโยชน์รวมทั้งสิ้น 13,346,143 ราย
2. การขยายระยะเวลาการนำส่งเงินสมทบให้แก่นายจ้าง และผู้ประกันตนมาตรา 33, 39
– นายจ้างได้รับประโยชน์ 488,226 ราย
– ผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้รับประโยชน์ 1,653,714 ราย
3. การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย ทั้งยังเพิ่มสิทธิไปถึง กรณีว่างงานเนื่องมาจากกรณีถูกเลิกจ้าง และลาออกเอง
4. การส่งเสริมให้มีการจ้างงาน โดยขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท
5. การดูแลรักษา ให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการ เพิ่มสิทธิการรักษาแก่ผู้ประกันตนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อ โควิด-19 เท่าเทียมกับการรักษาทั้ง 3 กองทุน
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคลฯ กล่าวต่อว่า มาตรการดังกล่าวได้ดำเนินการแล้ว เหลือเพียงกระบวนการบังคับใช้แต่จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พบว่าสถานการณ์แพร่กระจายของไวรัส ยังคงต่อเนื่อง ตนยังได้ปรับเพิ่มมาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงาน และผู้ประกันตนเพิ่มมากขึ้น ล่าสุด เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2563 ตนได้ประชุมวางหลักการแก้กฎกระทรวงเพื่อเยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกันตน กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท ซึ่งในเรื่องนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาโดยเร็วที่สุด
ในการนี้ ผู้สื่อข่าวยังสอบถาม นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กรณีการนำส่งเงินสมทบของสถานประกอบการ และผู้ประกันตน รวมทั้งการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างไรให้ปลอดภัย นายทศพลฯ ได้ชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคมมีช่องทางให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการที่สถานประกอบการ และผู้ประกันตน สามารถเข้าไปใช้บริการได้ รายละเอียดปรากฏอยู่ใน www.sso.go.th