รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่ พร้อมให้ 25 อำเภอ สำรวจพื้นที่กินของราษฎรโดยเร็ว เพื่อวางแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงหลังประกาศสิ้นสุดการเผา 30 เมษายนนี้
วันนี้ (5 เม.ย. 63) นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยประชุมกับอำเภอที่เกิดจุด Hotspot สูงที่สุด 5 อำเภอของเมื่อวานที่ผ่านมา คือ อำเภอแม่แจ่ม อมก๋อย สะเมิง แม่วาง และอำเภอจอมทอง ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประเมินสถานการณ์และวางแผนปฏิบัติงาน โดยศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับรายงานจุด Hotspot ที่เกิดขึ้นเช้านี้ จำนวน 223 จุด อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ 126 จุด เขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 92 จุด และพื้นที่อื่นๆ 5 จุด ซึ่งได้สั่งการทุกพื้นที่เข้าดำเนินการตรวจสอบและติดตามผลอย่างใกล้ชิด ในส่วนของการแจ้งความดำเนินคดี ได้ดำเนินการแล้วจำนวน 107 คดี ใน 17 อำเภอ ล่าสุด เมื่อวานนี้ ในอำเภอแม่อายจับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย สอบสวนยอมรับว่ากระทำไปด้วยความคึกคะนอง จึงส่งพนักงานสอบสวนดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกอำเภอรายงานผลการจับกุมให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสถานการณ์ไฟป่าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เมื่อวานนี้เกิดขึ้น 5 จุด เจ้าหน้าที่ได้เข้าดำเนินการดับได้ทั้งหมดแล้ว โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บูรณาการกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มณฑลทหารบกที่ 33 ร่วมปฏิบัติการลาดตระเวน ป้องกัน และดับไฟป่า พร้อมกับฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้จัดกำลังชุดปฏิบัติการลาดตระเวนป้องปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่า และตั้งจุดตรวจร่วมป้องกันการเข้าในเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ตลอด 24 ชั่วโมง
นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ขอความร่วมมือทั้ง 25 อำเภอ สำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทุกพื้นที่ เนื่องจากหลังจากวันที่ 30 เมษายนนี้ จะสิ้นสุดการประกาศห้ามเผา อาจจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงพร้อมกันในทุกพื้นที่ อาจก่อให้เกิดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น ทางจังหวัดจึงได้มีแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยภายในกลางเดือนนี้ ให้นายอำเภอทุกอำเภอร่วมประชุมหารือ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการเชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ เน้นย้ำในเรื่องของการวางแนวทางการดับไฟ โดยการทำแนวไฟเผาชน การใช้เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล กรณีหากพบ ไฟไหม้ตามลำต้นของต้นไม้ที่มีลำต้นสูง จนไม่สามารถใช้เครื่องสูบน้ำดำเนินการดับได้ ให้สามารถใช้เลื่อยยนต์ ในการตัดและโคนล้มได้ ในกรณีทีต้นไม้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น โดยให้พิจารณาตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานตรวจเช็คเครื่องมืออุปกรณ์ เพื่อให้พร้อมสนับสนุนช่วยเหลือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ กำชับให้ทุกอำเภอติดตามและตรวจสอบสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีจุดใดที่ไม่สามารถเข้าไปดับได้ ขอให้แจ้งมายังศูนย์บัญชาการฯ จังหวัดโดยด่วน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์การตัดสินใจนำอากาศยานเข้าสนับสนุน โดยขณะนี้มีเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ปภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สามารถขึ้นปฏิบัติการโปรยน้ำได้ทันที และยังเน้นเรื่องการลาดตระเวนป้องปราม ทำแนวกันไฟ ดับไฟป่า ตั้งจุดตรวจ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้รับรู้มาตรการห้ามเผาในที่โล่งเด็ดขาด
/////////////////
สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม // ภาพ-ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
5 เมษายน 2563