(มีคลิป Video) ศูนย์นวัตกรรมสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดค้นหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงาน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์นวัตกรรมสุขภาพคณะแพทยศาสตร์ ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คิดค้นหุ่นยนต์ผู้ช่วยพยาบาล CMU Aiyara เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ปฏิบัติงานภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในแนวคิด “กายห่างแต่ใจไม่ห่าง “CMU Aiyara”
รศ.ดร.พญ.ศิริอนงค์ นามวงศ์พรหม ผู้ช่วยคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางคณะแพทยศาสตร์ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในการเตรียมตัวรับการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อที่จะหาระบบป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ ที่เข้าไปสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ให้มีการสัมผัสได้น้อยที่สุด จากความคิดริเริ่มของคุณเบญญาภา ชีวะเกตุ จากฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และอาจารย์สุพัตรา วีรปรีชาเมธ อาจารย์พิเศษคณะวิศวะกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยความร่วมมือของศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และห้องวิจัยการเคลื่อนที่และควบคุม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ศูนย์ระบบและนวัตกรรมเมคคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทีมผู้ประดิษฐ์ รศ.ดร.ธีระพงษ์ ว่องรัตนะไพศาล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ,คุณประวีน ชิโนณะวณิก ,คุณณัฐกิตติ์ งามหมู่ ,คุณตะวัน ถิ่นถาวรกุล ,คุณนรเศรษฐ์ บานนิกุล ,คุณนริศ เมืองแก่น และคุณกนกวรรณ คามิมูรา ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยไอยราหุ่นยนต์ ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 จะถูกนำมาใช้ใน หอผู้ป่วย โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ลดความเสี่ยงในการสัมผัส เพื่อลดปริมาณการใช้ชุดและอุปกรณ์ป้องกัน ในขณะเดียวกันเป็นช่องทางในการส่งมอบการดูแลและเป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างทีมดูแลและผู้ป่วย ในแนวคิด “กายห่างแต่ใจไม่ห่าง”