รมว.แรงงาน เผยการดำเนินงานจ่ายสิทธิประโยชน์ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย มีผู้ประกันตนยื่นขอรับสิทธิเกือบ 1 ล้านราย ได้รับอนุมัติสิทธิแล้ว 4.9 แสนราย จ่ายไปแล้ว 2.5 พันล้านบาท พร้อมเร่งประสานนายจ้างรับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ภายในวันที่ 8 พ.ค. 63 เพื่อเดินหน้า
หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินงานจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในกรณีที่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ไม่ได้ทำงาน หรือนายจ้างไม่ให้ทำงาน อันเนื่องมาจากสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการเอง หรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการ ซึ่งทำให้ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับค่าจ้างสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน ได้รับคือ สิทธิกรณีว่างงานร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งจากการได้ลงพื้นที่เร่งรัดให้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยนั้นแล้วเสร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกจ้าง ผู้ประกันตน นั้น สำนักงานประกันสังคมได้ทยอยจ่ายเสร็จสิ้นไปกว่าครึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิ ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 จำนวน 990,523 ราย เจ้าหน้าที่วินิจฉัยอนุมัติแล้ว จำนวน 492,273 ราย เป็นเงินจำนวน 2,563.612 ล้านบาท ซึ่งในเรื่องนี้ ตนได้สั่งการให้ดำเนินการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แล้วเสร็จงวดแรก ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563
สำหรับในกรณีที่สถานประกอบการที่หยุดประกอบกิจการชั่วคราว และไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคมขอให้สถานประกอบการกลุ่มดังกล่าวเร่งดำเนินการรับรองการหยุดของลูกจ้าง ซึ่งพบว่ามีผู้ประกันตน จำนวน 289,104 ราย ที่รอนายจ้างเข้ามารับรองสิทธิ สถานประกอบการกลุ่มนี้ จะได้รับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน รวมทั้งได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากสำนักงานประกันสังคม เร่งรัดให้เข้ามารับรองการหยุดงานของลูกจ้าง ภายในวันที่ 8 พฤษภาคม 2563
ในส่วนกรณีลูกจ้าง ผู้ประกันตน ที่ได้รับการวินิจฉัยปฏิเสธไม่ได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย นั้น สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมความพร้อมรองรับข้ออุทธรณ์จากผู้ที่ได้รับการปฏิเสธสิทธิดังกล่าว โดยมีคณะกรรมการอุทธรณ์ในการร่วมพิจารณาวินิจฉัยให้กับผู้ที่ได้รับการปฏิเสธการขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัยแล้ว อย่างไรก็ตามขอให้ผู้ประกันตนที่ได้รับการปฏิเสธสิทธิดังกล่าว รีบยื่นอุทธรณ์ต่อสำนักงานประกันสังคมโดยทันที