มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผัก เกือบ 5 แสนชุด ให้ประชาชนใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ นำไปเพาะปลูกเลี้ยงชีพสู้ภัยโควิด
เมื่อวันที่ (8 พ.ค. 63) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ นำเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว จำนวน 485,000 ชุด ซึ่งเป็นผลผลิตที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ มอบให้กับ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับนำไปใช้ในการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพ ลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยรัฐได้เร่งดำเนินมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเลิศด้านการเกษตร จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ด้วยการจัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวทั่วไทยสู้ภัยโควิด – 19 โดยได้นำเมล็ดพันธุ์ผักที่ได้จากการดำเนินการทางการเกษตรของมหาวิทยาลัย และที่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคส่วนต่างๆ มาบรรจุใส่ซองเป็นชุดๆ สำหรับแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ 1 ชุด ต่อ 1 ครอบครัว รวมทั้งสิ้น 485,000 ครัวเรือน โดยมองว่า “ผัก” เป็นอาหารและเป็นยาสามัญประจำบ้าน การมอบเมล็ดพันธุ์หนึ่งเมล็ดจึงมีค่าเทียบเท่ากับหนึ่งชีวิต เมื่อประชาชนได้รับเมล็ดพันธุ์ผักและส่งต่อความปรารถนาดีขยายไปสู่วงกว้าง จะช่วยให้สามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชนได้ ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สำหรับเมล็ดพันธุ์ 1 ชุด จะประกอบไปด้วย ผักสวนครัว 5 ชนิด เช่น พริก มะเขือ ถั่ว กะเพรา และอื่นๆ โดยแต่ละชนิดจะมีเมล็ดพันธุ์ 15 – 20 เมล็ด หลังจากการเพาะปลูก ประชาชนจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหาร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การใช้พัฒนาสายพันธุ์ และการจำหน่ายสร้างรายได้ โดยจากการประมาณการ คาดว่า ผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์ผักทั้งหมดนี้ จะสามารถสร้างเม็ดเงินได้เป็นมูลค่ากว่า 1,700 ล้านบาท ในระยะเวลา 1 ปี นอกจากนี้ยังสร้างมูลค่าเชิงสังคมที่เกิดจากการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ และการส่งต่อคุณค่าในการปลูกผักสวนครัวเพื่อสุขภาพ สามารถช่วยสร้างความยั่งยืนในการพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะสอดรับกับอนาคตของประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ที่จะเปลี่ยนจากความมั่นคงทางเศรษฐกิจไปสู่ความมั่นคงทางมนุษย์เป็นตัวตั้ง เกษตรยุคใหม่จะมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างยิ่ง ซึ่งถือได้ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ประชาชนสามารถต่อสู้และพลิกวิกฤติครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสไปพร้อมๆ กันได้