“ตู้ปันสุข” ตู้นี้ไม่มีลิขสิทธิ์ ทุกคนสามารถตั้งได้เองไม่ต้องขออนุญาตทีมอิฐน้อย
ขอให้นำหลักการของการตั้งตู้ไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในชุมชนของท่าน “หลักการของตู้ปันสุข”
- ตู้ปันสุข มิใช่การแจกมหาทาน ซื้อมาเยอะๆเพื่อมาแจก แต่เป็นการแบ่งปันของเล็กๆ น้อยๆ ที่มีในบ้าน พอที่จะให้คนอื่นๆได้
- ตู้ปันสุข เป็นของชุมชน ผู้ติดตั้งไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีหน้าที่มาใส่ของให้หรือมาดูแลตู้ให้
- เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ถือว่ายกให้เป็นของชุมชน หากมีคนขโมยตู้ไป เราจะไม่โกรธไม่รู้สึกต่อว่าผู้ที่ขโมยไป มันเป็นของชุมชน ถ้าชุมชนไม่ช่วยกันรักษาก็จะไม่มีตู้ใช้ คนที่เดือดร้อนในชุมชนก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ
- ของที่ใส่ในช่วงแรกจะเป็นเครื่องกระป๋อง ของแห้ง อาหารที่ไม่ใช่อาหารสดเพื่อให้อยู่ได้นานและไม่บูดเน่า เมื่อตู้หมุนเวียนได้ดี มีคนให้และคนรับตลอดเวลาอาจเริ่มนำของสดมาใส่ได้ และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ผ่านไปแล้ว ชุมชนสามารถใช้แบ่งปันสิ่งของอื่นๆได้ เช่น เสื้อผ้า ของใช้ หนังสือ
- เมื่อเอาของใส่ตู้แล้ว มันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป จะมีคนเปิดหยิบไปหรือไม่ จะมีคนเติมหรือไม่ เป็นกระบวนการของชุมชนนั้นๆ หากมีคนกวาดไปหมด เราก็จะไม่ว่าเขา แต่อาจจะไม่มีคนมาใส่อีก
- หากหยิบแค่พอดี และเผื่อแผ่ “ให้” ผู้อื่นต่อ ก็เชื่อได้ว่า เขาจะได้ “รับ” ของจากคนอื่นๆ ในชุมชนต่อไป ทั้งนี้เพราะ”ผู้ให้” ทุกท่านในชุมชน ไม่ได้มี “หน้าที่” เติมตู้ให้เต็ม แต่เป็นการแบ่งปันตามกำลัง ด้วยความรักความเมตตาต่อกัน และผู้ “รับ” ก็อาจจะเป็นผู้ “ให้” ได้ เมื่อมีโอกาส
ใครที่อยากทำตู้ทำได้เลยไม่ต้องขอทีมงาน ไม่มีลิขสิทธิ์ เพราะแนวคิดนี้เป็นของต่างประเทศ เพียงแต่ปรับแนวคิดบางประการ และรูปแบบตู้ก็สามารถออกแบบเองได้เลย
ควรมีสมุดโน้ตและปากกาใส่ตู้ “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ได้มีโอกาสเขียนให้กำลังใจกัน เขียนขอบคุณกัน ก็จะเป็นความงดงามอย่างยิ่งในสังคม
ขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มจิตอาสา ในนามกลุ่มอิฐน้อย จัดตั้งโครงการ THE PANTRY OF SHARING ตู้ปันสุข