วัดทั่วประเทศ ตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เผยเตรียมช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru ในทุกพื้นที่ชุมชน

1492

สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติร่วมกับวัดทั่วประเทศ ตั้งโรงทานช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยประชาชนได้กว่า 2.7 แสนคน/วัน เผยเตรียมช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru ในทุกพื้นที่ชุมชน

     เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 เวลา 12.00 น. ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  แถลงการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น คณะสงฆ์ไทยได้นำพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชฯ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยมีพระบัญชาให้จัดตั้งโรงทาน โดยให้สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ประสานงานกับวัดทั่วราชอาณาจักรที่มีศักยภาพเพียงพอในการจัดตั้งโรงทานช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากจากสถานการณ์ฯ โดยกำหนดแนวทางประสานความร่วมมือที่คำนึงถึงความพร้อมเป็นปัจจัยสำคัญ ร่วมกับการสนับสนุนจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนในชุมชนนั้น ๆ และให้ปฏิบัติตามคำสั่งมาตรการ คำแนะนำของทางราชการอย่างเคร่งครัด

UeuL2n.jpg

ปัจจุบันมีการดำเนินการจัดตั้งโรงทานไปแล้ว 77 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานคร รวมเป็น 914 ศูนย์ ซึ่งมีพี่น้องประชาชนที่ได้รับความช่วยเหลือกว่า 274,000 คนต่อวัน สำหรับวัดขนาดเล็กที่ยังมีศักยภาพไม่มากแต่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้มีการจัดตั้งโรงทานในลักษณะตู้แบ่งปันความสุข ผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ทั้งการเข้ารับการตรวจ ณ จุดคัดกรอง ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง 1.5 – 2 เมตร ไม่ให้เกิดความแออัด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ผู้ให้ความร่วมมือในการเป็นแม่ครัวจิตอาสาต้องวัดอุณหภูมิก่อนเข้าไปประกอบอาหาร สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และล้างมือก่อนการประกอบอาหาร ถือเป็นมาตรการหลักที่ต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกันมีโรงทานที่เปิดทำการแล้วคือ โรงทานวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นโรงทานต้นแบบ ที่ได้เปิดตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งผู้ได้รับผลกระทบที่อาศัยอยู่ในชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบอาชีพต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วย สำหรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การช่วยเหลือผ่านระบบ Drive Thru เพื่อสามารถให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทุกพื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดตั้งโรงทานเคลื่อนที่สำหรับประชาชนที่ไม่ได้อยู่ใกล้บริเวณพื้นที่วัด โดยการสื่อสารผ่านผู้นำชุมชน เพื่อจัดทำอาหารที่ปรุงสดใหม่ส่งไปยังชุมชนนั้น ๆ โดยผู้ที่ต้องการรับความช่วยเหลือให้รออยู่ที่บ้านเพื่อเป็นการแก้ปัญหาความแออัด ขณะเดียวกันได้มีแนวทางการต่อยอดในการใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ปลูกผักปลอดสารพิษ “สวนวิถีพุทธ วิถีเกษตร” ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วในบางพื้นที่ เช่น วัดทรงเสวย วัดพรหมมหาจุฬามณี วัดประดู่ วัดอินทาราม รวมถึงการเชิญชวนพี่น้องประชาชนที่ยังไม่ได้กลับไปประกอบอาชีพ ช่วยกันปลูกผักและนำมาจำหน่ายให้แก่วัดเพื่อนำมาปรุงอาหารแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อีกด้วย

สำหรับโครงการจัดตั้งโรงทานได้มีการต่อยอดดำเนินการไปยังพื้นที่วัดไทยในต่างประเทศ ทั้งทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงโอเชียเนีย เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ตัวอย่างเช่น วัดอรุณสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังมีการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ยากไร้ด้วย ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการใช้วัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติของคนในประเทศในเรื่องของการช่วยเหลือเผื่อแผ่ ทำให้พี่น้องประชาชนเข้าใจคำว่าพอเพียงและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขได้ในสังคม ทั้งนี้ สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงทาน สํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานงานไปยังพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ผ่านสํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด เพื่อประชาสัมพันธ์จุดจัดตั้งโรงทานของแต่ละพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง