มท.1 สั่งการทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ย้ำ!! ดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์

269
มท.1 สั่งการทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ย้ำ!! ดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์

มท.1 สั่งการทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมืออุทกภัยในช่วงฤดูฝน ย้ำ!! ดูแลประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์

เมื่อ (19 พ.ค. 63) พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ปี 2563 ว่าจะเริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2563 โดยในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนจะเป็นเดือนที่มีฝนตกชุกหนาแน่น มีโอกาสสูงที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งได้ในบางแห่ง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า เพื่อให้การเตรียมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนปีนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดดำเนินมาตรการการเตรียมความพร้อม ดังนี้

1) ติดตามสภาพอากาศ โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ฯ โดยมีหน่วยงานด้านการพยากรณ์ การบริหารจัดการน้ำ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตาม วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ฯ ในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจของผู้อำนวยการแต่ละระดับในการสื่อสาร แจ้งเตือนประชาชน ตลอดจนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรกลสาธารณภัย เพื่อใช้ในการเผชิญเหตุอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพพื้นที่

2) จัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัย โดยทบทวนและปรับปรุงแผนเผชิญเหตุฯของจังหวัดให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ ตลอดจนเส้นทางการอพยพประชาชนไปยังจุด/พื้นที่ปลอดภัยอย่างชัดเจน

3) การระบายน้ำและการเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำ โดยมอบหมายกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในแต่ละระดับดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีความเชื่อมโยงกัน โดยเฉพาะตามรอยต่อเขตรับผิดชอบที่เป็นเส้นทางน้ำไหลผ่าน ด้วยการเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำ ดูดเลน ทำความสะอาดร่องน้ำ เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางออกจากทางระบายน้ำ รวมทั้งเร่งกำจัดพืช ขยะ สิ่งกีดขวางทางน้ำ และจากสถานการณ์ภัยแล้งในห้วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ขาดแคลนน้ำ จึงให้หาแนวทางการสร้างเส้นทางลำเลียงน้ำที่มีการระบาย ไปยังพื้นที่รองรับน้ำต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการกักเก็บน้ำไว้ใช้หากเกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงด้วย

4) การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงสถานที่ใช้กักเก็บ/กั้นน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำ พนังกั้นน้ำ

5) การแจ้งเตือนภัย เมื่อมีแนวโน้มการเกิดสถานการณ์จากเหตุอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มขึ้นในพื้นที่ ให้ดำเนินการแจ้งเตือนไปยังกองอำนวยการฯ แต่ละระดับ เพื่อเตรียมการในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นการล่วงหน้า พร้อมแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทุกช่องทาง ทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสาร แนวทางปฏิบัติตนให้เกิดความปลอดภัย ช่องทางแจ้งข้อมูล และขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สำหรับมาตรการด้านการเผชิญเหตุ ให้ยึดแนวทางการจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 และกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยดำเนินการ

1) จัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับจังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

2) กำหนดกลไกศูนย์ประสานการปฏิบัติ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ร่วม คณะที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนปฏิบัติการ ส่วนอำนวยการ และส่วนสนับสนุน พร้อมมอบหมายผู้รับผิดชอบ ภารกิจ และพื้นที่ปฏิบัติงานให้ชัดเจน

3) มอบหมายฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนอาสาสมัคร ประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชน พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาล ศาสนสถาน และร่วมกันกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่

4) จัดชุดปฏิบัติการเร่งให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีพแก่ประชาชนที่ประสบภัยตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านอาหาร น้ำดื่ม การรักษาพยาบาล โดยอย่าให้เกิดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงาน พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนจิตอาสา มีส่วนร่วมกับภาครัฐตามทักษะความถนัด ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน

5) กรณีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย ให้บูรณาการทุกหน่วยงาน ทั้งหน่วยทหาร ตำรวจ หน่วยงานฝ่ายปกครอง สถาบันการศึกษา ตลอดจนประชาชนจิตอาสา จัดทีมช่างในพื้นที่เป็นทีมประชารัฐ และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนโดยเร็ว

6) กรณีเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย หรือถูกน้ำท่วมจนประชาชนไม่สามารถใช้ยานพาหนะสัญจรได้ ให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร แนะนำเส้นทางเลี่ยงที่ปลอดภัย รวมทั้งจัดยานพาหนะที่เหมาะสมช่วยเหลือประชาชน จากนั้นให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุด/ถูกตัดขาด เพื่อประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว

7) สื่อสารสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในช่วงเกิดสถานการณ์อุทกภัยทุกช่องทางเพื่อให้เกิดความเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทุกจังหวัดเร่งเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในช่วงฤดูฝนเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ และเตรียมพร้อมอุปกรณ์และบุคลากรเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อให้ประชาชนได้มั่นใจในความปลอดภัยและไม่เกิดปัญหาซ้ำซาก

กองสารนิเทศ สป.มท.

ครั้งที่ 70/2563

วันที่ 19 พ.ค. 2563