กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลัง 9 จังหวัดภาคเหนือ ร่วมสรุปผลการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ปี 2563 ตั้งเป้าปีหน้าการเกิดไฟป่าต้องน้อยกว่าเดิม
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสรุปผลการถอดบทเรียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา พร้อมทั้ง มอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน และจังหวัดตาก โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ส่วนราชการ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง 9 จังหวัดภาคเหนือ ให้การต้อนรับ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าในเขตพื้นที่ภาคเหนือในรอบปีที่ผ่านมานั้น จะพบว่า จำนวนการเกิดจุด HOT SPOT หรือการเกิดไฟป่าในช่วงปี 2563 ลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า พื้นที่ความเสียหายกลับมากขึ้นกว่าปีก่อน โดยไฟป่าที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ เกิดในจุดใหม่ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า แผนดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ผ่านมา อาจไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างจะต้องดำเนินการต่อไป และจากบทเรียนในปีนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปแก้ไขปัญหาในปีต่อๆ ไปให้ดีขึ้นได้ โดยตั้งเป้าในปีหน้าการเกิดไฟป่าและพื้นที่ป่าที่เสียหายจะต้องลดลงให้ได้
ทั้งนี้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ส่วนหน้า ได้สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคประชาชน และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่า ปัญหาที่ยังต้องแก้ไขนั้น จะมีทั้งการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การบูรณาการการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกันทุกระบบ และที่สำคัญ คือ การถ่ายโอนภารกิจควบคุมไฟป่าให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการถ่ายโอนมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ผ่านมา จะยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต่อจากนี้ จะต้องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าวอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนในการดำเนินงาน รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ ในการดับไฟป่า โดยมองว่า กลไกของท้องถิ่นมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้ที่จะเข้าใจสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้มากที่สุดคือคนในท้องถิ่นเอง นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งอาสาสมัครป้องกันไฟป่าให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน พร้อมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเข้ามาบริหารจัดการสถานการณ์ไฟป่าในแต่ละจังหวัด โดยให้ประสานงานร่วมกับทางกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดความคล่องตัว ทั้งเรื่องการตั้งคณะทำงานและการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่โดยเฉพาะการสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟให้ท้องถิ่นที่ยังขาดแคลน
สำหรับวันพรุ่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูป่า ภายหลังจากเกิดเหตุไฟป่าเป็นพื้นที่กว้างและได้สร้างความเสียหายให้กับป่าไม้ในหลายพื้นที่ ซึ่งจากนี้ไป ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเร่งรณรงค์ปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ให้กลับมาเขียวขจีดังเดิม เริ่มต้นจากป่าชุมชน โดยจะมีการกำหนดพื้นที่ปลูกป่าในแต่ละครั้งให้ชัดเจน ทำให้สามารถที่จะระบุได้ว่าแต่ละพื้นที่มีต้นไม้กี่ต้น และเป็นสายพันธุ์ใด โดยถึงวันนี้ สามารถปลูกต้นไม้ไปได้แล้วเกือบ 15 ล้านต้น