ทาสแมวต้องระวัง! ศูนย์วิจัยโรคปรสิตฯ เตือนทาสแมวระวัง “โรคขี้แมวขึ้นสมอง” แนะคนเลี้ยงแมวหมั่นตรวจสุขภาพ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เฟซบุ๊กแฟนเพจ PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้โพสต์เตือนเกี่ยวกับอาการโรคขี้แมวขึ้นสมอง โดยระบุว่า ท่านที่ชอบเลี้ยงแมวต้องหมั่นตรวจสุขภาพ ผู้ป่วยชายอายุ 30 ปีรายหนึ่งมีรอยโรคขนาด 5 มิลลิเมตรที่ตาขวา และขนาดเกือบ 1 มิลลิเมตรที่ตาซ้าย ผลตรวจต่างๆมีความสัมพันธ์กับโรค Chorioretinal Toxoplasmosis ที่เกิดจากติดเชื้อโรคขี้แมวขึ้นสมองหรือ Toxoplasma gondii
โดยเชื้อนี้มักพบในสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะแมว พบได้ทั่วโลก คนติดต่อโดย กินเนื้อที่ปรุงไม่สุก กินอาหาร ดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนมูลแมวที่มีเชื้อ การสัมผัสกับบริเวณดินหรือกะบะเลี้ยงแมวแล้วล้างมือไม่สะอาด การถ่ายเลือด ปลูกถ่ายอวัยและถ่ายทอดผ่านรกจากแม่สู่ลูก การติดเชื้อชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดอาการทางตา โดยเฉพาะเด็กที่เกิดมาพร้อมการติดเชื้อชนิดนี้ โรคนี้สามารถทำให้เกิดแผลเรตินาอักเสบและเป็นรอย ทำให้เจ็บตา ทนแสงไม่ได้ เกิดการฉีกของเรตินา และสายตาพร่ามัว
ในภาวะปกติ คนปกติผู้ที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการ หรือมีอาการคล้ายไข้หวัด ต่อมน้ำเหลืองโตและกดเจ็บบริเวณศีรษะและคอ ปวดหัว มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วย HIV หรือมะเร็ง อาจมีอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น มึนงง มีไข้ ปวดหัว สายตาพร่ามัว ชัด คลื่นไส้ การประสานงานของร่างกายไม่ดี
มีงานวิจัยรายงานว่าเชื้อนี้สามารถส่งผลกระทบต่อบุคคลิกภาพและพฤติกรรมโดยทำให้เกิดบุคลิกภาพแบบหวั่นไหว (Neuroticism) โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคซึมเศร้า (Depression) และมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย แต่ก็มีรายงานวิจัยหลายฉบับเช่นกันที่แย้งในประเด็นเหล่านี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
อย่างไรก็ตาม การป้องกันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ท่านที่ชอบคลุกคลีกับแมว ผู้ที่มีอาชีพฆ่าสัตว์ ชำแหละ และขายเนื้อสัตว์ ควรหมั่นตรวจสุขภาพตนเองเมื่อมีอาการดังข้างต้น หญิงตั้งครรภ์ควรตรวจคัดกรองโรคนี้เมื่อครบตามกำหนด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่จะตามมา สำหรับหญิงที่เคยติดเชื้อควรรออย่างน้อย 6 เดือนหลังการติดเชื้อ ก่อนจะตั้งครรภ์ เพราะการติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์อาจทำให้แท้งเด็ก เด็กเสียชีวิตในท้อง หรือเด็กเกิดมาอาจมีศีรษะขนาดไม่ปกติ และเมื่อโตขึ้นอาจมีปัญหาทางระบบประสาท เช่น เสียการมองเห็น มีความบกพร่องทางสติปัญญาและชัก
ข้อมูล : PDRC ศูนย์วิจัยโรคปรสิต สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี