กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือนการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุโรคร้าย แนะเลิกบุหรี่ไม่ยาก อย่างที่คิด ผลดีเกิดขึ้นทันที หากเลิกได้ภายใน 1 ปี ลดความเสี่ยงโรคหัวใจวายได้ถึง 50% และ 5 ปี ลดเสี่ยงโรคสมอง 50%
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า บุหรี่ทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น หลอดเลือดในสมองตีบ โรคมะเร็งต่างๆ โรคหัวใจหลอดเลือด และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สารพิษในบุหรี่มีมากมาย ประกอบด้วย นิโคติน ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง กระตุ้นระบบประสาท คาร์บอนไดออกไซค์ ทำให้หัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่าย เป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ ทาร์ สารก่อมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไนโตรเจนไดออกไซค์ ทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้ถุงลมโป่งพอง ไฮโดรเจนไซยาไนต์ ทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดเลือดอักเสบเรื้อรัง ดังนั้นสารพิษในควันบุหรี่จึงเป็นอันตราย หากสูบต่อไปอาจนำไปสู่โรคร้ายจนถึงแก่ชีวิตตนเองและคนรอบข้าง
นอกจากนี้ในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของใหม่ที่ผู้สูบหันมานิยมสูบมากขึ้นเพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ธรรมดา และเข้าใจว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะปลอดภัย อันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าการสูบบุหรี่แบบเดิมๆ บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับสูบบุหรี่ สร้างความร้อนและไอน้ำด้วยแบตเตอรี่จึงไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้ นอกจากนี้ผู้สูบยังสามารถเลือกระดับของนิโคตินและเลือกกลิ่นรสได้ตามความต้องการ ส่วนประกอบสำคัญของบุหรี่ไฟฟ้าคือ “น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า” ที่มีส่วนผสมหลัก คือ นิโคตินเช่นเดียวกับบุหรี่จริง จึงทำให้มีผลเสียต่อร่างกาย ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหดตัว เหนื่อยง่าย ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่เพียงเท่านี้นิโคติน ยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดรวมไปถึงโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ นอกจากนี้ยังมี สารโพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตาและปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง อีกทั้งยังพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นโรคหัวใจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในเซลล์ปอด หัวใจ และกระเพาะปัสสาวะแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งด้วย
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บุหรี่ธรรมดา และบุหรี่ไฟฟ้าล้วนแต่มีสารเคมีที่มีโทษต่อร่างกาย หากอยากเลิกบุหรี่ธรรมดาแล้วหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้านั้น นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้มีความอันตรายต่อสุขภาพน้อยลง ร้ายไปกว่านั้นยังทำให้ผู้สูบยังคงติดพฤติกรรมการสูบ ส่งผลให้อัตราการสูบบุหรี่โดยรวมทั้งบุหรี่ธรรมดาและไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นหากผู้สูบมีความต้องการอยากเลิกบุหรี่จริง เพียงแค่หาเหตุจูงใจที่จะเลิก เช่น มอบเป็นของขวัญกับคนที่เรารักในโอกาสสำคัญ เตรียมตัวให้พร้อม กำหนดวันที่แน่นอนบอกคนที่รักเพื่อเป็นกำลังใจ ทำจิตใจให้แจ่มใส ไม่เครียด หากิจกรรมต่างๆ ทำ เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และยืนยันตั้งมั่นว่าจะเลิกบุหรี่แน่นนอน ด้วยการทิ้งอุปกรณ์การสูบบุหรี่ หรือเมื่อรู้สึกอยากสูบบุหรี่ให้ดื่มน้ำหรือล้างหน้าทันทีเมื่อรู้สึกหงุดหงิด สูดลมหายใจเข้าลึกๆ และช้าๆ 2- 3 ครั้ง และหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เพื่อทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายขึ้น ซึ่งหากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้จะส่งผลดีต่อร่างกาย ดังนี้ เมื่องดเป็นเวลา 15 นาที หัวใจจะเต้นช้าลง เมื่องดเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ลดลงสู่ภาวะปกติ ถ้างดสูบบุหรี่เป็นเวลา 14 วัน ระบบไหลเวียนดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น รู้สึกสดชื่น หากเลิกสูบบุหรี่ในเวลา 1 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจวายลดลง 50% และถ้าเลิกสูบตั้งแต่ 5 ปี เป็นต้นไป ความเสี่ยงโรคสมองลดลง 50%
และสำหรับผู้กำลังที่จะเริ่มต้นสูบบุหรี่หรือสูบบุหรี่มาแล้วเป็นระยะเวลานาน ควรเลิกเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณเองและคนที่คุณรัก เพราะควันบุหรี่ส่งผลเสียแก่ผู้ที่สูดดมเอาควันเข้าไปถึงไม่ได้เป็นผู้สูบโดยตรงก็ตาม ทุกครั้งที่สูบเอาควันเข้าไปในปอดแต่ละครั้งนั่นหมายความว่าเรากำลังใช้ร่างกายของเรากรองเอาสารพิษหลากหลายชนิดไว้ในตัวเรา และสารพิษเหล่านั้นก็จะค่อย ๆ บั่นทอนชีวิตของเราให้สั้นลงไม่มากก็น้อย ดังนั้นเราควรหาวิธีลด ละ เลิก การสูบบุหรี่กันเสียแต่วันนี้เพื่อสุขภาพที่ดีในอนาคต สถาบันโรคทรวงอกเปิดให้บริการคลินิกอดบุหรี่ ทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ โดยบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะทาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเปิดบริการ อดบุหรี่ ด้วยยา ทุกวันจันทร์ เวลา 08.00 – 12.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร 02-5470999 ต่อ 30927
Cr.กรมการแพทย์