กรมการแพทย์เผย “มะเร็งตับ” พบมากเป็นอันดับ 1 ของคนไทย แนะปรับพฤติกรรมการกินลดความเสี่ยง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมด ปีละ 122,757 ราย มะเร็งตับและท่อน้ำดีถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย (ปี 2558) พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับรายใหม่ 20,671 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,912 ราย ซึ่งมะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ มะเร็งของเซลล์ตับและมะเร็งท่อน้ำดีตับโดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ สาเหตุของมะเร็งตับเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้ม แหนม ฯลฯ นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาทอกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึงไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเกี่ยวกับอาการของมะเร็งตับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบ คือ แน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด ปวดหรือเสียดชายโครงขวา อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต และมีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น
ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า การรักษามะเร็งตับและท่อน้ำดีมีหลายวิธีซึ่งจําเป็นต้องประเมินโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องจากมีปัจจัยที่ต้องคํานึงหลายประการ สำหรับการป้องกันโรคทำได้โดยการให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาทอกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหาร หมักดอง เป็นต้น หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคตับเรื้อรังหรือมีประวัติเป็นโรคตับอักเสบ ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับได้