ครั้งแรกในไทย ลุยจับค้างคาวมุงกุฏในถ้ำกลางป่า จ.จันทบุรี หาเชื้อโควิด 19
หลังมาตรการโควิด-19 คลี่คลาย กรมอุทยานฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าพื้นที่จันทบุรี ครั้งแรกในไทยลุยจับค้างคาวหาเชื้อโควิด ในประเทศไทยมีค้างคาวสายพันธุ์นี้ถึง 23 สายพันธุ์ แต่ยังไม่เคยมีการค้นหาเชื้อไวรัสจากค้างคาวมงกุฏมาก่อน พบบางพื้นที่นิยมกินค้างคาว เสี่ยงมากอาจได้รับเชื้อโรค เชื้อไวรัสโควิดโดยไม่รู้ตัว
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 63 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. – 03.00 น. ของคืนวันที่ 11 มิ.ย. 63 ที่ผ่านมา ที่ถ้ำสะดอ หมู่ 2 ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมด้วย ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คนไทยคนแรกที่ค้นพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ในไทย อาจารย์ประทีป ด้วงแค คณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว อ.สอยดาว จ.จันทบุรี และกองร้อยทหารพรานนาวิกโยธิน 544 ร่วมกันตรวจหาค้างคาวภายในถ้ำดังกล่าว โดยวางแผนจับค้างคาวมากกว่า 100 ตัว นำมาเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย และอุจจาระ และนำตัวอย่างที่เก็บได้ไปตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด 19 และเชื้อไวรัสที่สำคัญอย่างละเอียดในห้องแล็ปต่อไป
ต่อมาในเวลา 11.00 น. วันที่ 12 มิ.ย. ที่โรงเรียนบ้านคลองคต หมู่ 7 ต.หนองตาคง อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี คณะนายสัตวแพทย์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคติดต่อจากค้างคาวแก่ผู้นำชุมชน ครูและนักเรียนโรงเรียนดังกล่าว พร้อมด้วยคณะมวลชนสัมพันธ์ มูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ได้ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการอยู่ร่วมกับค้างคาวอย่างปลอดภัยโดยในการให้ความรู้ ของคณะทำให้ทราบจากผู้นำชุมชนว่า ปัจจุบันคนงานในสวนลำไยจากประเทศเพื่อนบ้านบางส่วนใน อ.โป่งน้ำร้อน ยังกินค้างคาวที่มาติดตาข่ายดักค้างคาวและพากันจับกินเป็นอาหาร จากนั้นคณะได้เดินทางไปยังสวนลำไยหลายแห่งใน อ.สอยดาว และ อ.โป่งน้ำร้อน ให้ความรู้กับชาวสวนในเรื่องการเฝ้าระวังไวรัสโควิด 19 ที่มาจากค้างคาว
นอกจากนี้ยังเป็นตัวแทนมอบหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และสิ่งของอื่น ๆ ที่ได้รับการบริจาคจาก “วชิรวิชญ์ ชีวอารี” หรือ “ไบร์ท” นักแสดงชื่อดัง ให้แก่โรงเรียนและผู้นำชุมชนไปใช้ประโยชน์ในการดูแลตัวเองต่อไปด้วย
ดร.สุภาภรณ์ เปิดเผยว่า “สาเหตุที่ต้องเริ่มมีการตรวจสอบค้างคาวมงกุฏ เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า ไวรัสโควิด 19 ที่กำลังแพร่ระบาดในคนมีลักษณะเดียวกันกับไวรัสที่พบในค้างคาวมุงกุฏ ที่สำคัญได้มีการพบค้างคาวชนิดนี้ในไทยด้วย ในเมืองไทยมีค้างคาวมงกุฏถึง 23 สายพันธุ์ จึงจำเป็นต้องค้นหาโรคและไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมงกุฏทุกสายพันธุ์ในเมืองไทย และเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการหาเชื้อไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมุงกุฏอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ การวิจัยเรื่องโรคจากค้างคาวที่เมืองไทยทำมาเกือบ 20 ปี ยังไม่เคยมีการตรวจสอบค้างคาวมุงกุฏแต่อย่างใด จึงยังไม่มีข้อมูลว่าค้างคาวมุงกุฏมีเชื้อไวรัสโควิด 19 หรือไม่ ซึ่งจะต้องหาคำตอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนต่อไป”
” แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ถ้ามองการพบเชื้อไวรัสโควิด 19 ในค้างคาวมงกุฏแบบเดียวกับที่พบค้างคาวสายพันธุ์นี้ในประเทศจีน เมืองไทยก็มีโอกาสจะพบเชื้อไวรัสนี้ แต่อัตราการติดเชื้อจะมีโอกาสมากหรือน้อย ต้องตรวจสอบกันต่อไป ส่วนเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่จะหมดไปจากเมืองไทย ไวรัสเดียวกันนี้จะกลับเกิดขึ้นในไทยจากค้างคาวมุงกุฏหรือไม่อย่างไร ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์การกินอาหารของคนไทย หากไม่กินค้างคาวก็ยากจะได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ที่เป็นห่วงคือคนที่ยังนิยมกินค้างคาวเป็นอาหาร มีโอกาสจะติดเชื้อได้ง่ายอย่างยิ่ง”
ด้านนายสัตวแพทย์ภัทรพล เปิดเผยว่า “เป็นที่น่ากังวลที่ยังมีคนนิยมกินค้างคาว เพราะมีความเชื่อผิดๆ การกิน การจับ มีโอกาสจะได้รับเชื้อไวรัสหรือเชื้อโรคใด ๆ ก็ได้ จึงจำเป็นต้องทำคู่มือว่าด้วยเรื่องการอยู่ร่วมกับค้างคาวอย่างปลอดภัยแจกจ่ายให้ประชาชน ขณะนี้กลุ่มนักวิจัยกำลังศึกษาเส้นทางการอพยพ เส้นทางการหากินของค้างคาว โดยเน้นไปที่ค้างคาวมงกุฏ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสหรือโรคที่มาจากค้างคาวในอนาคต เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับไวรัส แต่วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุด คือการไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายธรรมชาติหรือบุกรุกป่า ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่า เชื้อโรคใดๆ จากสัตว์ป่าก็ไม่สามารถมาสู่คนได้”